เฉลิมชัย สั่งคุมเข้มชายแดน จับมือฝ่ายความมั่นคงและด่าน สกัดลักลอบสินค้าเกษตร หลังปาล์มน้ำมัน มะพร้าว กาแฟ ราคาพุ่ง และผลกระทบจากภัยแล้งและโควิด 19

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2020 14:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เฉลิมชัย สั่งคุมเข้มชายแดน จับมือฝ่ายความมั่นคงและด่าน สกัดลักลอบสินค้าเกษตร หลังปาล์มน้ำมัน มะพร้าว กาแฟ ราคาพุ่ง และผลกระทบจากภัยแล้งและโควิด 19

กระทรวงเกษตรฯ ย้ำหนัก จับมือฝ่ายความมั่นคงและด่านนำเข้า ประกาศเข้มงวดจับกุมลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตร หลังหลายชนิดราคาดี ทั้งปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และกาแฟ รวมถึงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโควิด 19 (Covid-19) พร้อมชี้ควรทบทวนข้อตกลงทางการค้าภายใต้กรอบต่างๆ ด้วย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้สั่งการเข้ม ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโควิด 19 (Covid-19) พร้อมติดตามปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญ ซึ่งได้สั่งการให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และ นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรและการเฝ้าระวังการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย

“ด้วยพบว่า ในขณะนี้มีสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง กาแฟ ถั่วเหลือง และมะพร้าว มีปริมาณการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งการบริโภคโดยตรงและใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงราคาในประเทศบางสินค้าอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับราคาของต่างประเทศ ทำให้มีการลักลอบการนำเข้าเพื่อสวมสิทธิ์เป็นสินค้าเกษตรของไทยหรือการหลีกเลี่ยงทางภาษี เช่น ปาล์มน้ำมัน จึงได้ประสานขอความร่วมมือหน่วยงานความมั่นคง กอ.รมน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้มงวด ตรวจสอบ จับกุมการลักลอบการนำเข้า โดยเฉพาะตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ควรมีการทบทวนข้อตกลงทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA และ WTO ใหม่ ตลอดจนมาตรการทางการค้าอื่นๆ อาทิ safe guard, special safeguard” นายอลงกรณ์กล่าว

สำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน จากการลงพื้นที่พบว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ของไทย ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 36.19 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดมาเลเซียเฉลี่ยกิโลกรัมละ 21.05 บาท ต่ำกว่าไทยกิโลกรัมละ 10 - 15 บาท ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลใจในเรื่องการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งระบบอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งให้กรมการค้าภายใน ดำเนินการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ถังเก็บให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยอนุมัติงบประมาณ จำนวน 372.516 ล้านบาท

นอกจากนี้ กนป. ได้กำหนดด่านการนำเข้า โดยให้มีการนำเข้าเฉพาะด่าน 3 ด่านเท่านั้น ได้แก่ 1) ด่านศุลกากร มาบตาพุด 2) สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ และ 3) สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และในส่วนของด่านนำผ่านสินค้าน้ำมันปาล์ม กำหนดด่านต้นทาง เพียงด่านเดียว คือ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ซึ่ง สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ กนป. จะติดตามผลการดำเนินงานตามมติ ครม. อย่างใกล้ชิด สินค้าเกษตรอีกชนิดได้แก่ มะพร้าว โดยจากการลงพื้นที่พบปะกับกลุ่มพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว อ.บางสะพาน และทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตและต้นทุนการผลิตมะพร้าวในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า ในพื้นที่ยังมีการลักลอบนำเข้ามะพร้าวผล ซึ่ง สศก. ได้มีการประสานกรมศุลกากร เพื่อตรวจสอบประเด็นการนำเข้ามะพร้าวผิดกฎหมาย นอกจากนี้ การนำเข้าน้ำกะทิส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการมะพร้าวในประเทศ โดยเฉพาะด้านราคา ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น ควรมีการเข้มงวดในเรื่องของมาตรการการนำเข้ามะพร้าวและน้ำกะทิ อาทิ กำหนดช่วงเวลาและปริมาณการนำเข้ามะพร้าวผลที่เหมาะสมภายใต้กรอบการค้า AFTA และ WTO การตรวจสอบและควบคุมการนำเข้ากะทิ การกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายมะพร้าวผลนำเข้าน้ำหนักตั้งแต่ 4 ตันขึ้นไป ซึ่งได้ประสานกรมการค้าภายในเพื่อทบทวนมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายฯ แล้ว และการทำลายมะพร้าวลักลอบ โดยกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการทำลายตาม พ.ร.บ. กักพืช

กาแฟ เป็นอีกสินค้าหนึ่งที่ยังลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีการนำเข้ามาผ่านมาช่องทางด้านตะวันออกของประเทศไทย สาเหตุหนึ่งมาจากเกษตรกรบางรายนำเข้ากาแฟมาสวมสิทธิ์เป็นกาแฟไทยแล้วจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งจะได้ราคาสูงกว่าจำหน่ายให้กับสหกรณ์ ดังนั้น ภาครัฐควรคุมเข้มเกี่ยวกับการนำเข้าในทุกรูปแบบ และกำหนดช่วงนำเข้ากาแฟหลังเดือนพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่เหมาะสม และผลผลิตกาแฟของเกษตรกรในประเทศเริ่มจำหน่ายหมดแล้ว ทั้งนี้ สศก. ได้ประสานกรมวิชาการเกษตร ในฐานะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสินค้ากาแฟ ให้แจ้งกรมศุลกากรถึงปัญหาการลักลอบนำเข้าเมล็ดกาแฟ รวมถึงแจ้งข้อมูลช่วงเวลาที่ผลผลิตกาแฟออกสู่ตลาด และช่วงเวลาที่ห้ามนำเข้า ให้กรมศุลกากรรับทราบเพื่อจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

***********************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ