สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 23, 2020 13:53 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 13 - 19 พฤศจิกายน 2563

1) สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,253 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,295 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.40

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,172 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,422 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.98

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,512 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,270 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.82

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 876 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,226 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 891 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,893 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.68 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 667 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 496 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,849 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 485 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,639 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.27 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 210 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 492 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,729 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 491 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,820 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 91 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.9380 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวจากประเทศจีนและฟิลิปปินส์กลับเข้ามา ประกอบกับในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกลงมาจากอิทธิพลของพายุ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว (autumn-winter crop) ส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดอยู่ในภาวะตึงตัว โดยข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ประมาณตันละ 495-500 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจากตันละ 493-497 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากสัปดาห์ก่อนหน้า

โดยในเดือนตุลาคม 2563 เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 362,930 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 5.80 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม) เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 5.35 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 2.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม (Ministry of Agriculture and Rural Development) รายงานว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 5.30 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.20 แต่ปริมาณลดลงประมาณร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าข้าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ข้าวในประเทศที่มีอุปทานข้าวลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้การส่งออกข้าวในเดือนพฤศจิกายนนี้มีปริมาณลดลงจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

The Oceanic Agency and Shipping Service รายงานว่า ระหว่างวันที่ 1-23 พฤศจิกายน 2563 จะมีเรือบรรทุกสินค้าอย่างน้อย 4 ลำ เข้ามารอรับเพื่อขนถ่ายสินค้าข้าวที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City Port เพื่อรับมอบข้าวประมาณ 80,287 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

บังคลาเทศ

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา Directorate General of Food (DGF) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านธัญพืชของรัฐบาลได้ออกประกาศเปิดการประมูลนำเข้าข้าวนึ่ง (INTERNATIONAL QUOTATION NOTICE FOR IMPORT OF NONBASMATI PARBOILED RICE) จำนวน 50,000 ตัน ถือเป็นการเปิดประมูลนำเข้าข้าวครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากภาวะราคาข้าวในประเทศปรับสูงขึ้นขณะที่อุปทานข้าวมีน้อยลง โดยกำหนดให้ยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2563 และกำหนดให้มีการส่งมอบข้าวภายในระยะเวลา 40 วัน หลังจากที่มีการทำสัญญาแล้ว

รัฐมนตรีกระทรวงการอาหาร ระบุว่า รัฐบาลบังคลาเทศมีแผนที่จะประมูลนำเข้าข้าวประมาณ 300,000 ตัน เนื่องจากเกิดภาวะอุปทานข้าวในประเทศขาดแคลน เพราะผลผลิตข้าวบางส่วนได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการค้าข้าว กล่าวว่า การจัดประมูลนำเข้าข้าวดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาของข้าวในขณะนี้ ซึ่งราคาข้าวในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 50 นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากประชาชนซื้อข้าวเพื่อกักตุนไว้ท่ามกลางความตื่นตระหนกของตลาดวงการค้าระบุว่า การประมูลนำเข้าข้าวไม่น่าจะทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวลดลง แต่รัฐบาลควรใช้วิธี

ปรับลดภาษีนำเข้าข้าว (import duty) มากกว่า เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าข้าวในขณะนี้อยู่ที่อัตราร้อยละ 55 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 28 โดยในปี 2562 รัฐบาลได้ปรับอัตราภาษีขึ้นเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ ส่งผลให้ในช่วงเวลานั้นราคาข้าวในประเทศปรับตัวลดลงจนเกิดการประท้วงของเกษตรกรจากการขายข้าวในราคาที่ถูกลง อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ระบุว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าว เพราะต้องการคงอัตราภาษีนำเข้าไว้เพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ และในทางกลับกันรัฐบาลอาจจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าวในกรณีที่จำเป็นอีกด้วย โดยในปีนี้รัฐบาลคาดว่าผลผลิตข้าวในฤดูนาปีหรือ Aman crop จะมีผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 15 เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักและอุทกภัย ซึ่งส่งผลให้การจัดหาข้าวของรัฐบาลในปีนี้ลดลงเกือบ 1 ล้านตัน จากเป้าหมายที่ 1.95 ล้านตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ไนจีเรีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานสถานการณ์ข้าวของไนจีเรีย โดยคาดว่าในปีการตลาด 2563/64 (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564) ไนจีเรียมีผลผลิตข้าวประมาณ 4.89 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 5.04 ล้านตัน

ในปี 2562/63 แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกจะเพิ่มขึ้นจาก 21.87 ล้านไร่ เป็น 22.50 ล้านไร่ก็ตาม เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลออกมาตรการ Lockdown ในช่วงเวลาซึ่งใกล้เคียงกับช่วงการปลูกข้าว (กลางเดือนมีนาคม- กลางเดือนเมษายน) ทำให้การเดินทางเพื่อประกอบกิจกรรมทางการเกษตรถูกจำกัด และการกระจายปัจจัยการผลิต และอุปกรณ์สำหรับการทำนาข้าวต้องหยุดชะงักไป

ด้านการบริโภคข้าวนั้น คาดว่ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการขยายตัวของชุมชนเมือง โดยในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 มีความเสียหายต่อระบบห่วงโซ่อุปทานเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้าวบางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนข้าว และส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นทำให้ประชาชนบางส่วนหันไปบริโภคธัญพืชชนิดอื่นที่มีราคาถูกว่า อาทิ millet ข้าวฟ่าง และมันสำปะหลัง

ด้านการนำเข้าข้าวคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวไนจีเรียยังคงชื่นชอบข้าวนึ่งจากไทยและอินเดีย ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายปิดพรมแดน แต่การลักลอบนำเข้าข้าวผ่านแนวชายแดนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และมีการ ค้าขายกันอย่างเสรีภายในประเทศ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ