สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 8, 2021 13:25 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 1 - 7 กุมภาพันธ์ 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการ ลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.50 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3)โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,851 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,961 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.44

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,031 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,222 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 27,550 บาท ลดลงจากตันละ 29,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 8.01

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,450 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,110 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.25

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,765 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 15 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 561 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,684 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,347 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.00 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 337 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 557 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,565 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 547 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,258 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.83 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 307 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.7389 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม: เวียดนามเริ่มมีการส่งออกข้าวไปยังสหราชอาณาจักรภายใต้ข้อตกลง UKVFTA

เวียดนามเริ่มมีการส่งออกข้าวไปยังสหราชอาณาจักรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหราชอาณาจักร - เวียดนาม (the UK-Vietnam Free Trade Agreement - UKVFTA) โดยล็อตแรกเป็นการส่งออกข้าวหอมของบริษัท Vinaseed ที่ได้นำเข้าโดยบริษัท Long Dan ในสหราชอาณาจักรจำนวน 60 ตัน ได้วางขายในเครือซุปเปอร์มาร์เก็ต ณ เมืองลอนดอน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 โดยราคาขายปลีก 15.5 ปอนด์ต่อ10 กิโลกรัม สหราชอาณาจักรเรียกเก็บภาษีนำเข้าข้าวหอม Jasmine อยู่ที่ร้อยละ 17.4 อย่างไรก็ตาม จากข้อตกลง UKVFTA ข้าวหอมคุณภาพสูงของเวียดนามที่เข้าสู่ตลาดสหราชอาณาจักรจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ซึ่งจะทำให้ข้าวเวียดนามสามารถแข่งขันกับประเทศส่งออกข้าวหอมอื่นๆ ได้

ในปี 2562 สหราชอาณาจักรนำเข้าข้าวมากกว่า 671,000 ตัน มีมูลค่า 531 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอยู่อันดับ 9 ใน 10 ประเทศ ที่นำเข้าข้าวมากที่สุดในโลก โดยเวียดนามส่งออกข้าวไปยังสหราชอาณาจักรเกือบ 1,719 ตัน มีมูลค่า 1,296 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคา (CIF) เฉลี่ย ณ ท่าเรือสหราชอาณาจักร สูงถึงตันละ 754 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนแบ่งตลาดของข้าวเวียดนามในสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.24 ของมูลค่าการนำเข้าข้าวทั้งหมดไปยังสหราชอาณาจักร จากข้อมูลของ ICT แม้ว่าเวียดนามอยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่ข้าวเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 22 ของประเทศที่ส่งออกข้าวไปสหราชอาณาจักร ประเทศชั้นนำในการส่งออกข้าวไปยังสหราชอาณาจักร ได้แก่ อินเดีย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 22) ปากีสถาน (ร้อยละ 18) สเปน (ร้อยละ 11) อิตาลี (ร้อยละ 10.9) และไทย (ร้อยละ 9.2)

นาย Nguyen Canh Cuong ที่ปรึกษาการค้า (Commercial Counselor) ของเวียดนาม ณ สหราชอาณาจักร คาดการณ์ว่า ด้วยข้อตกลง UKVFTA การส่งออกข้าวหอมคุณภาพสูงของเวียดนามไปยังตลาดสหราชอาณาจักรภายในปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 10 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2563

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

อินโดนีเซีย: ลำดับเหตุการณ์ข้าวเวียดนามราคาถูกเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย

จากข่าวการรั่วไหลของข้าวหอมมะลิเวียดนามสู่ตลาดข้าว Cipinang ของอินโดนีเซีย คณะกรรมาธิการที่ 4 ของรัฐสภาอินโดนีเซียได้ดำเนินการพิจารณาคดีโดยเรียกหน่วยงานกักกัน (Barantan) กระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย (Kementan) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรสู่อินโดนีเซีย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม

Ali Jamil หัวหน้าหน่วยงานกักกัน (Barantan) กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียกล่าว่า ได้รับข้อมูลการนำเข้าข้าวจากเวียดนาม และไทย ซึ่งมีใบอนุญาตนำเข้า (SPI) โดยกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ของบริษัท PT Perusahaan Perdagangan Indonesia (Persero) โดยข้าวที่นำเข้า ได้แก่ ข้าว Japonica จำนวน 800 ตันซึ่ง Barantan ตรวจสอบสินค้า และใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) แล้วเป็นข้าว Japonica จากเวียดนาม ซึ่งแตกต่างจากข่าวข้าวที่รั่วไหลเข้ามาสู่ตลาดอินโดนีเซีย ในขณะที่ Syailendra รองประธานบริษัท PT Perusahaan Perdagangan Indonesia (Persero) กล่าวว่า ข้าวดังกล่าวไม่ใช่ข้าวของบริษัท

Sudin ประธานคณะกรรมาธิการที่ 4 กล่าวว่า ข้าวชนิดพิเศษที่นำเข้าจากต่างประเทศควรจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าราคาข้าวในประเทศ อย่างไรก็ดีข้าวหอมมะลิที่รั่วไหลเข้ามาในตลาด Cipinang จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 9,000 รูเปียห์ (20 บาท) ซึ่งต่ำกว่าราคาข้าวในประเทศ โดยข้าวชนิดพิเศษที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาขั้นต่ำปกติอยู่ที่กิโลกรัมละ 12,500 ? 13,000 รูเปียห์ (30 บาท)

กระทรวงการค้าอินโดนีเซีย เปิดเผยเรื่องการนำเข้าข้าวหอมมะลิเวียดนามว่า มีการนำข้าวมาผสมเพื่อจำหน่ายในราคาถูก ทั้งนี้ Didi Sumedi อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงการค้าอินโดนีเซียกล่าวว่า ในปี 2563 ได้ออกใบอนุญาตนำเข้าข้าวประเภทต่างๆ โดยออกใบอนุญาตนำเข้าข้าวระดับพรีเมียม อย่างเช่น basmati, japonica และข้าวหอมมะลิซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า มีการผสมข้าวเพื่อจำหน่ายในราคาถูก ตามรายงานที่มีข้าวรั่วไหลในตลาด Cipinang ในราคากิโลกรัมละ 9,000 รูเปียห์ ซึ่งราคาเดิมอยู่ที่กิโลกรัมละ 16,000 ? 19,000 รูเปียห์ ทั้งนี้ อธิบดีกรมคุ้มครองผู้บริโภคและการค้า กระทรวงการค้าอินโดนีเซีย กำลังดำเนินการตรวจสอบ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการข้าวที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการข้าวและโรงสีข้าว (Perpadi) กล่าวถึงการรั่วไหลของข้าวหอมมะลิของเวียดนามที่ตลาด Sutarto Alimoeso ประธานสมาคม Perpadi อธิบายว่า สมาชิกพบข้าวหอมมะลิจำหน่ายในราคาที่ค่อนข้างถูก หลังจากเปิดบรรจุภัณฑ์พบว่าเป็นข้าวธรรมดา ซึ่งข้าวหอมมะลิเป็นข้าวชนิดพิเศษ ปกติจะนำเข้าข้าวชนิดนี้โดยเฉพาะต้องมีใบอนุญาตนำเข้า ทั้งนี้ สถานการณ์ข้าวในประเทศเกินดุล การนำเข้าข้าวส่งผลกระทบต่อข้าวในประเทศ โดยไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้ามาของข้าว รวมถึงการบรรจุข้าวที่ไม่ตรงกับข้าวที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์

วิเคราะห์ผลกระทบ โอกาส/แนวทางการปรับตัวของภาครัฐ/ภาคเอกชน/ผู้ประกอบการไทย

ปี 2563 สมาชิกสมาคมผู้ประกอบการข้าวและโรงสีข้าว (Perpadi) เปิดเผยว่า อินโดนีเซียมีผลผลิตข้าวในประเทศเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ อย่างไรก็ดี มีข่าวการรั่วไหลของข้าวหอมมะลิ จากเวียดนามเข้ามาจำหน่ายในตลาดอินโดนีเซียในราคากิโลกรัมละ 9,000 รูเปียห์ (20 บาท) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้าวในประเทศ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการภายใต้รัฐสภาอินโดนีเซียอยู่ระหว่างเชิญกระทรวงเกษตร กระทรวงการค้าอินโดนีเซีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ในเบื้องต้นหน่วยงานชี้แจงว่า มีการนำข้าวมาผสมเพื่อจำหน่ายในราคาถูก อีกทั้งการบรรจุข้าวไม่ตรงกับที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์

ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวชนิดพิเศษ ปกติการนำเข้าข้าวชนิดนี้โดยเฉพาะ ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าจาก กระทรวงการค้าอินโดนีเซีย จากสถิติ ปี 2563 พบว่า อินโดนีเซียนำเข้าข้าวหักร้อย 90 และนำเข้าข้าวอื่นๆ ร้อยละ 10 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ