สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2021 13:50 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 8 - 14 กุมภาพันธ์ 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.50 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3)โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส.ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,840 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,851 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,100 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 9,031 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.76

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 27,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,600 บาทราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 902 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,780 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,765 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 15 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 569 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,893 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 561 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,684 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.43 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 209 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 565 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,775 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 557 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,565 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.44 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 210 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.6895 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นสูงที่สุดในรอบกว่า 9 ปีนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ท่ามกลางภาวะการค้าที่ชะลอตัว เนื่องจากใกล้เข้าสู่เทศกาลตรุษเวียดนามขณะที่ผู้ซื้อบางส่วนระงับการทำสัญญาในช่วงนี้เพื่อ

รอดูผลผลิตข้าวฤดูใหม่ ประกอบกับอุปทานข้าวในตลาดมีปริมาณลดลงส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง โดยข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ประมาณตันละ 510-515 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจากตันละ 505-510 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าทั้งนี้ วงการค้าระบุว่าผู้ซื้อบางส่วนชะลอการซื้อในช่วงนี้เพื่อรอดูผลผลิตข้าวฤดูใหม่ (winter-spring crop)ซึ่งเริ่มทยอยออกสู่ตลาดบ้างแล้วแต่ยังมีปริมาณไม่มากนัก โดยคาดว่าจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมนี้

The Oceanic Agency and Shipping Service รายงานว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 13 มกราคม ? 6 กุมภาพันธ์ 2564 จะมีเรือบรรทุกสินค้าอย่างน้อย 11 ลำ เข้ามารอรับขนถ่ายสินค้าข้าว (breakbulk ships) ที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City Port เพื่อรับมอบข้าวประมาณ 124,950 ตัน

กรมศุลกากรรายงานว่าในเดือนมกราคม 2564 เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 347,774 ตัน มูลค่าประมาณ 191.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ12.4 และร้อยละ0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ปากีสถาน

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2563/64 (พฤศจิกายน 2563 ? ตุลาคม 2564)คาดว่าปากีสถานจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 11.4 ล้านตัน หรือประมาณ 7.6 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 400,000 ตัน เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอในช่วงฤดูเพาะปลูก ประกอบกับรัฐบาลได้มีโครงการอุดหนุนเกษตรกรด้วย โดยการเก็บเกี่ยวข้าวของปี 2563/64 แล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563

ทางด้านสถานการณ์ส่งออกนั้น ในปีการตลาด 2562/63 (พฤศจิกายน 2562-ตุลาคม 2563) มีการส่งออกข้าวประมาณ 3.8 ล้านตัน ลดลงจากจำนวนประมาณ 4.5 ล้านตัน ในปี 2561/62เนื่องจากการส่งออกข้าวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั้งในประเทศปากีสถานและในประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญของปากีสถาน ทำให้การส่งออกข้าวถูกจำกัดลง

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (the Cambodia Rice Federation; CRF) รายงานว่า ในเดือนมกราคม 2564 มีการส่งออกข้าวประมาณ 34,273 ตัน (มูลค่าประมาณ 30.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ลดลงประมาณร้อยละ 32.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 50,540 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และลดลงประมาณร้อยละ 61.83 เมื่อเทียบกับจำนวน 89,784 ตันในเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากในเดือนมกราคมที่ผ่านมากัมพูชาประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ไม่สามารถส่งมอบข้าวให้ผู้ซื้อได้ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกไปยังตลาดยุโรปลดลงเกือบร้อยละ60 นอกจากนี้ยังประสบปัญหาไม่มีพื้นที่ว่างที่ท่าเรือสีหนุวิลล์สำหรับวางตู้สินค้าก่อนที่จะขนถ่ายขึ้นเรือใหญ่ด้วย รวมทั้งค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้นถึง 5 เท่าอีกด้วย

ทั้งนี้ ชนิดข้าวที่กัมพูชาส่งออกเป็นกลุ่มข้าวหอมจำนวนประมาณ 30,032 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 87.63) ซึ่งประกอบด้วย ข้าวหอมเกรดพรีเมี่ยมข้าวหอม Sen Kra Ob ข้าวหอมอินทรีย์ เป็นต้น ข้าวขาวจำนวนประมาณ 3,695 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.78) ข้าวนึ่งจำนวนประมาณ 546 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.59)

ในเดือนมกราคม 2564 กัมพูชาส่งออกไปยังตลาดที่สำคัญประกอบด้วย ตลาดจีน (รวมฮ่องกง) จำนวนประมาณ 16,163 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (สัดส่วนร้อยละ 47 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด) ตลาดสหภาพยุโรปจำนวนประมาณ 7,954 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (สัดส่วนร้อยละ 23 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด) ตลาดอาเซียนจำนวนประมาณ 3,259 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 44.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (สัดส่วนร้อยละ 10 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด) และตลาดอื่นๆ จำนวนประมาณ 6,897 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (สัดส่วนร้อยละ 20 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด) โดยส่งไปยัง 28 ประเทศ เช่น ประเทศจีน 14,924 ตัน ฝรั่งเศส 3,723 ตัน มาเลเซีย 3,184 ตันเนเธอร์แลนด์ 786 ตัน สเปน 786 ตัน และเยอรมนี 317 ตัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2563 (มกราคม-ธันวาคม) กัมพูชาส่งออกข้าวปริมาณ 690,829 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับจำนวน 620,288 ตัน ในปี 2562 โดยส่งออกข้าวไปยังประเทศที่สำคัญ เช่น ประเทศจีน 263,949 ตันฝรั่งเศส 81,366 ตัน มาเลเซีย 42,774 ตัน เนเธอร์แลนด์25,826 ตัน สหราชอาณาจักร 14,724 ตัน และสาธารณรัฐเชค 6,221 ตัน เป็นต้น

นาย Hun Lak ประธานคณะกรรมการสหพันธ์ข้าวกัมพูชาระบุว่า แม้ว่าการส่งออกข้าวในเดือนที่ผ่านมาจะลดลง แต่การส่งออกข้าวเปลือกผ่านทางชายแดนไปยังประเทศเวียดนามยังคงไปได้ดี ซึ่งนับตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกที่ส่งไปเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทำให้ในขณะนี้โรงสีไม่ต้องแบกภาระรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บไว้ เพราะเกษตรกรพึงพอใจในระดับราคาที่ขายให้แก่พ่อค้าจากเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของบริษัท Signatures of Asia Co Ltd. ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของกัมพูชาได้ออกมาเตือนว่า การส่งออกข้าวเปลือกไปยังเวียดนามเป็นจำนวนมากนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการส่งออกข้าวของกัมพูชา เพราะอาจจะไม่มีข้าวเปลือกเพียงพอที่จะสีเป็นข้าวสารส่งออกทางด้านเว็บไซต์ Mekong Oryza รายงานราคาข้าวของกัมพูชาระหว่างวันที่ 8-21 กุมภาพันธ์ 2564 โดยข้าวหอมเกรดพรีเมี่ยม 5% (Premium Jasmine Rice (Rumduol) Purity >90% Wet Season) ราคาตันละ 830 ดอลลาร์สหรัฐฯ เอฟโอบี (Phnom Penh or Sihanouk Ville Port (Min Order 10 Containers)) ข้าวหอมเกรดพรีเมี่ยม 10% (Premium Jasmine Rice (Rumduol)) Purity >90% Wet Season) ราคาตันละ 825 ดอลลาร์สหรัฐฯ เอฟโอบี ข้าวหอม 5% (Jasmine Rice (Rumduol) Purity >85% Wet Season) ราคาตันละ 820 ดอลลาร์สหรัฐฯ เอฟโอบี ข้าวหอม 10% (Jasmine Rice (Rumduol) Purity >85% Wet Season) ราคาตันละ 815 ดอลลาร์สหรัฐฯ เอฟโอบี ข้าวหอม Sen Kra Ob 5% (Fragrant Rice (Sen Kra Ob) Purity >85% Dry Season) ราคาตันละ750 ดอลลาร์สหรัฐฯ เอฟโอบีและข้าวหอม Sen Kra Ob 10% (Fragrant Rice (Sen Kra Ob) Purity >85% Dry Season) ราคาตันละ 745 ดอลลาร์สหรัฐฯ เอฟโอบีขณะที่ข้าวขาวเมล็ดยาว 5% (Long Grain White Rice IR) ราคาตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ เอฟโอบีและข้าวขาวเมล็ดยาว 10% (Long Grain White Rice IR) ราคาตันละ 595 ดอลลาร์สหรัฐฯ เอฟโอบีกัมพูชาและเกาหลีใต้ได้ข้อสรุปข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (Cambodia-Korea free trade agreement: CKFTA) แล้วเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากมีการเจรจากันและคาดว่าจะลงนามได้ภายในกลางปี 2564 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญแห่งข้อตกลงการค้าประวัติศาสตร์ของกัมพูชากับเกาหลีใต้

ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซนระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในเดือนมีนาคม 2562 โดยการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันของข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการที่เมืองปูซานประเทศเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562หลังจากได้รับการชี้นำของผู้นำทั้งสองประเทศข้อตกลงการค้า CKFTA มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและเปิดเสรีการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและธุรกิจของทั้งสองประเทศ

นายทรง สราญ (Song Saran) ประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา แสดงความยินดีกับการได้ข้อสรุปโดยกล่าวว่าข้อตกลง CKFTA จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศ ซึ่งกัมพูชามีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตร เช่นมะม่วง ยางพารา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และสินค้าเกษตรอื่นๆ ซึ่งโดยปกติแล้วเกาหลีใต้จะเสนอระบบโควตาอัตราภาษี(TRQ) ให้กับบางประเทศ เพื่อการส่งออกข้าวไปยังเกาหลีใต้ดังนั้นหวังว่ากัมพูชาจะสามารถดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้

ในปี 2563 กัมพูชาส่งออกข้าวขาวประมาณ 20 ตันไปยังเกาหลีใต้แต่อัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 400 ดังนั้นด้วยข้อตกลงนี้จึงหวังว่าจะสามารถเจรจาได้สำเร็จเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการนำเข้าข้าวจากกัมพูชามากขึ้นในอัตราภาษีที่ถูกลง โดยตลาดเกาหลีใต้นิยมบริโภคข้าวสายพันธุ์ที่ปลูกในเขตอบอุ่น ดังนั้นกัมพูชาจะต้องมีความร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรเพื่อวางแผนการผลิตข้าวที่ตรงกับความต้องการของตลาดเกาหลีใต้

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ