สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 24, 2021 14:08 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 17 - 23 พฤษภาคม 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3)โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,370 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,617 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.13

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,626 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,927 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.36

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 23,050 บาท ราคาลดลงจากตันละ 23,175 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.54

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,670 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,800 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.94

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 776 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,250 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 781 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,174 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.64 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 76 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 486 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,188 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 496 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,352 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.02 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 164 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 486 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,188 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 496 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,352 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.02 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 164 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.2506 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนพฤษภาคม 2564ผลผลิต 505.446 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 503.534 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2563/64 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.38

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2564/65 ณ เดือนพฤษภาคม 2564 มีปริมาณผลผลิต 505.446 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 0.38 การใช้ในประเทศ 513.348 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ร้อยละ 1.57 การส่งออก/นำเข้า 46.429 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.19 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 168.018 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2563/64 ร้อยละ 4.49

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา อียู ปารากวัย ไทย ตุรกี และอุรุกวัย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา อินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไอเวอรี่โคสต์ เอธิโอเปีย อียู กินี อิหร่าน อิรัก เคนย่า มาดากัสกา โมแซมบิค เนปาล ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เซเนกัล สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล จีน อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย ปากีสถาน และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปปินส์

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ได้ออกคำสั่งให้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าว(The Tariff for Imported Rice) เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ฟิลิปปินส์จะมีความมั่นคงด้านอาหารและปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคในประเทศทั้งนี้ จะมีการปรับลดภาษีนำเข้าข้าว (the Most Favored Nation; MFN) ลงเหลือร้อยละ 35 จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้าข้าวในโควตา (Minimum Access Volume: MAV) จำนวน 350,000 ตัน และที่ร้อยละ 50 สำหรับการนำเข้าข้าวนอกโควตา โดยมีกำหนดเวลา 1 ปี สำหรับข้าวที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 35

สำนักงานอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry; BPI) รายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2564) ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวปริมาณ 780,068.53 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.14 เมื่อเทียบกับ จำนวน 778,969.397 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวในประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาข้าวในตลาดโลกโดยเฉพาะราคาข้าวเวียดนามยังคงอยู่ระดับสูง

ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนามจำนวน 656,132.55 ตัน คิดเป็นร้อยละ 84 ของปริมาณนำเข้าข้าวทั้งหมด

สำหรับการขอเอกสารรับรองสุขอนามัยพืช (sanitary and phytosanitary import clearance; SPS-IC) ในช่วง 4 เดือนแรกมีจำนวน 1,416 ใบ (เพื่อขออนุญาตนำข้าข้าวประมาณ 1.629 ล้านตัน) ซึ่งเอกสาร SPS-IC ที่ออกในช่วง 4 เดือนแรกนี้ ลดลงประมาณร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับจำนวน 3,236 ใบ (เพื่อขออนุญาตนำเข้าข้าวประมาณ 2.678 ล้านตัน) ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เฉพาะเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา มีการออกใบอนุญาต SPS-IC จำนวน 731 ใบ เพื่อขออนุญาตนำเข้าข้าวประมาณ 725,304.3 ตัน

ทางด้าน Federation of Free Farmers Inc. ระบุว่า ผู้ค้าข้าวอาจจะลดการนำเข้าข้าวลง เนื่องจากภาวะราคาข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้นทำให้ผู้ค้าข้าวมีกำไรลดลง ประกอบกับผู้ค้าข้าวยังกังวลเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศอ่อนตัวลง

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และ Oryza.com

อิหร่าน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน รายงานว่า จากราคาข้าวที่สูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อและการขาดแคลนเงินตราในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศที่ทำให้ปริมาณข้าวในตลาดผู้บริโภคของอิหร่านลดลง ส่งผลให้ปัจจุบันมีชาวอิหร่านเพียง 15 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 84.9 ล้านคน มีกำลังเพียงพอในการจัดซื้อจัดหาข้าวสำหรับบริโภคในครัวเรือน

ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมผู้นำเข้าข้าวอิหร่านระบุว่าการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศของอิหร่านหลังไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 เป็นต้นมา มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุมาจากปัญหาการชำระเงิน การอ่อนตัวของค่าเงินเรียล และราคาข้าวนำเข้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวบาสมาติจากอินเดียและปากีสถานที่พบว่ามีราคาสูงขึ้นใกล้เคียงกับราคาข้าวอิหร่าน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ข้าวที่วางจำหน่ายในตลาดภายในประเทศมีปริมาณลดลง ส่งผลให้ราคาขายขยับตัวสูงขึ้นจากการสำรวจตลาดข้าวในเดือนพฤษภาคม 2021 ของสื่อท้องถิ่นอิหร่านพบว่า ราคาข้าวสารต่อกิโลกรัมเพิ่มขึ้น

โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 150 หรือ 2.5 เท่าของราคาที่จำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยข้าวอิหร่านที่เป็นผลผลิตภายในประเทศปัจจุบันจำหน่ายที่กิโลกรัมละ 420,000 เรียล (ประมาณ 60 บาท) และข้าวนำเข้าจากต่างประเทศกิโลกรัมละ 300,000 เรียล (ประมาณ 42 บาท)จากสถิติของทางการอิหร่านพบว่า ในปี 2020 อิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศทั้งสิ้นประมาณ 870,000 ตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 925 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าในปี 2019 ปัญหาหลักของการนำเข้าลดลงคือการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่อิหร่านได้รับจากการส่งออกน้ำมันและฝากไว้ในธนาคารต่างประเทศสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น ข้าว น้ำตาล และชา เป็นต้น โดยเฉพาะในธนาคารที่อินเดียซึ่งอิหร่านได้รับค่าสินค้าเป็นเงินสกุลรูปีและฝากไว้ในธนาคารอินเดีย 2 แห่งสำหรับหักบัญชีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าข้าว

จากรายงานของหนังสือพิมพ์รอยเตอร์ฉบับเดือนมีนาคม 2021 พบว่า ผู้ส่งออกอินเดียจำนวนมากลังเลที่จะลงนามในสัญญาส่งออกข้าวมายังอิหร่านเนื่องจากเห็นว่าเงินฝากสกุลรูปีของอิหร่านในธนาคารอินเดียกำลังร่อยหรอลงและไม่เพียงพอต่อการหักจ่ายค่าสินค้า อาจทำให้ประสบปัญหาการชำระเงินได้ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยหลังอินเดียหยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน เริ่มจากเดือนพฤษภาคม 2019 เป็นต้นมา หลังสิ้นสุดระยะผ่อนปรนของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ อินเดียเป็นแหล่งนำเข้าข้าวที่สำคัญอันดับหนึ่งของอิหร่าน คิดเป็น 3 ใน 4 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด โดยมีปริมาณการนำเข้าปีละประมาณ 6 8 แสนตัน (7 แสนตันในปี 2020) แต่จากสถิติการส่งออกข้าวของอินเดียมายังอิหร่านในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2021 นี้ พบว่า มีปริมาณและมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020ซึ่งอินเดียส่งออกข้าวมาอิหร่านมูลค่าสูงถึง 202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ข้าวเป็นสินค้าอุปโภคที่มีนัยยะสำคัญต่ออิหร่านเป็นอันดับสองรองจากข้าวสาลี ดังนั้น การที่ข้าวขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคชาวอิหร่านจำเป็นต้องหันไปบริโภคข้าวสาลีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาถูกเพราะรัฐบาลตรึงราคาและให้การอุดหนุนด้านการนำเข้า อย่างไรก็ตาม เพื่อทดแทนการนำเข้าข้าวจากอินเดียที่ประสบปัญหาการชาระเงิน รัฐบาลอิหร่านจึงเริ่มมองหาและเร่งเจรจานำเข้าข้าวจากแหล่งส่งออกอื่น เช่น เวเนซูเอล่า เวียดนาม และไทย เป็นต้น โดยจะเจรจาเงื่อนไขการนำเข้าแบบการค้าในระบบต่างตอบแทนเป็นหลัก

ในช่วงที่ผ่านมา ข้าวไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่อิหร่านให้ความสำคัญมาโดยตลอด แต่เนื่องด้วยปัญหาด้านการชำระเงินและการขนส่งที่เกิดจากมาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มข้นของสหรัฐฯ จึงทำให้การนำเข้าข้าวจากไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ข้าวที่อิหร่านนำเข้าจากไทยจะเป็นข้าวขาว 5% เกรดบีและข้าวหอมมะลิ โดยส่วนใหญ่นำเข้าเพื่อรักษาสมดุลทางอาหาร หรือ Food Security และจำหน่ายราคาถูกให้กับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก จากปรากฏการณ์การขาดแคลนข้าวได้ส่งผลให้รัฐบาลอิหร่านจำเป็นต้องนำข้าวไทยเหล่านี้ออกมาวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าของรัฐทั่วประเทศ ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้บริโภคตามเมืองใหญ่ เช่น กรุงเตหะราน สามารถหาซื้อข้าวไทยได้อย่างเสรี ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนเมือง

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ