สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 7, 2021 14:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,170 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,324 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.36

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,645 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 8,619 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 23,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,600 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.09 3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 782 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,192 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 778 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,162 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 30 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,159 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 487 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,125 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.62 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,159 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 487 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,125 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.62 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9367 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวยังคงทรงตัวในระดับสูงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สาม ท่ามกลางภาวการณ์ค้าที่ชะลอตัวลงเนื่องจากความต้องการข้าวจากต่างประเทศลดน้อยลง ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดเริ่มมีน้อยลง ทำให้ผู้ส่งออกลังเลที่จะทำสัญญาขายข้าวฉบับใหม่ ประกอบกับยังไม่มั่นใจว่าจะส่งมอบข้าวได้ทันตามกำหนดหรือไม่ เพราะยังมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์โดยเฉพาะที่ต้องส่งมอบไปยังปลายทางในตะวันออกกลางและยุโรป ขณะที่ผู้ค้าข้าวบางส่วนรอดูผลผลิตข้าวฤดูใหม่ (summer-autumn crop) ที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวในไม่ช้านี้ โดยข้าวขาว 5% ราคายังคงอยู่ที่ 490-495 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เท่ากับสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม วงการค้าคาดว่า ความต้องการข้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและฟิลิปปินส์จะกลับเข้ามาอีกครั้งในไม่ช้านี้

จีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเวียดนาม โดยมีมูลค่าการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ประมาณ 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ จีนยังเป็นแหล่งนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.8 ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยสินค้าผัก กาแฟ ข้าว มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง และอาหารทะเล เป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุด

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้ดำเนินมาตรการ เพื่อกระตุ้นการส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งประกอบด้วย การตรวจสอบสุขอนามัยพืช การตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิด การพัฒนาตราสินค้า และการออกใบรับรองคุณสมบัติ ทั้งนี้ จีนถือเป็นตลาดหลักสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของเวียดนาม โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 28 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและประมงทั้งหมดของเวียดนาม ซึ่งมีสินค้าที่มีมูลค่าการซื้อขายสูง เช่น ผัก เม็ดมะม่วงหิมพานต์ กาแฟ ข้าว มัน สำปะหลัง และผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เป็นต้น เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่มีความต้องการสูง รวมถึงข้อได้เปรียบในการขนส่งสินค้าที่มีต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่น เนื่องจากมีชายแดนติดกับจีน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และ Oryza.com

อินเดีย

ราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สอง เนื่องจากค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาอยู่ที่ระดับ 382-388 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจากระดับ 379-385 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวของอินเดียยังคงต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่นค่อนข้างมากวงการค้าข้าวระบุว่า ความต้องการข้าวจากต่างประทศค่อนข้างทรงตัว ขณะที่การขนส่งและขนถ่ายสินค้าข้าวที่ท่าเรือ 2-3 แห่ง ต้องหยุดชะงักเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากพายุไซโคลนยาอาสเคลื่อนขึ้นฝั่งที่รัฐกัลกัตตา

นาย BV Krishna Rao ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวอินเดีย (The Rice Exporters Association) ระบุว่า การที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ปรับลดภาษีนำเข้าข้าวลงเหลือร้อยละ 35 เป็นระยะเวลา 1 ปีนั้น คาดว่า จะเพิ่มโอกาสในการส่งออกข้าวของอินเดียไปยังตลาดฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม อินเดียมีข้อเสียเปรียบที่ผู้ส่งออกข้าวต้องเผชิญคือ ต้องมีการใช้เรือแบบเทกอง (break bulk vessels) จำนวนมาก เนื่องจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวประกอบกับต้นทุนของค่าขนส่งทางตู้คอนเทนเนอร์สูงขึ้น โดยขณะนี้อินเดียมีเรือแบบเทกองที่มีความพร้อมน้อย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการส่งมอบข้าว

กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture and Farmers Welfare) รายงานว่า การเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูร้อน ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2021 เพาะปลูกแล้วประมาณ 24.75 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยที่การเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ COVID-19

ผลการพยากรณ์ผลผลิตธัญพืชครั้งที่ 3 ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2021 โดยคาดว่า ในปีการผลิต 2020/21 (กรกฎาคม 2020-มิถุนายน 2021) จะมีผลผลิตข้าวประมาณ 121.46 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 119.6 ล้านตัน ประกอบด้วยผลผลิตในฤดูการผลิต the Kharif season (มิถุนายน-ธันวาคม) ประมาณ 104.3 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 102.6 ล้านตัน และในฤดูการผลิต the Rabi season (พฤศจิกายน-พฤษภาคม) ประมาณ 17.16 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 17 ล้านตัน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตร รายงานว่า รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าผลผลิตข้าวในปีการผลิต 2020/21 (กรกฎาคม 2020-มิถุนายน 2021) ไว้ที่ประมาณ 121.1 ล้านตัน ประกอบด้วยผลผลิตในฤดูการผลิต theKharif season (มิถุนายน-ธันวาคม) ประมาณ 104.3 ล้านตัน และในฤดูการผลิต the Rabi season(พฤศจิกายน-พฤษภาคม) ประมาณ 16.8 ล้านตัน

กระทรวงเกษตรและสวัสดิการเกษตรกร (the Ministry of Agriculture & Farmers Welfare) รายงานว่า โครงการจัดหาข้าวของรัฐบาลในฤดูการผลิต Kharif (Kharif marketing season; KMS) ของปี 2020/21 (เริ่มตั้งแต่ 26-28 กันยายน 2020-30 กันยายน 2021) ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2021 สามารถจัดหาข้าวเปลือกได้แล้วประมาณ 78.787 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.23 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ประกอบด้วยข้าวฤดูการผลิต Kharif crop ประมาณ 70.662 ล้านตัน และจากฤดูการผลิต Rabi rice crop (พฤศจิกายน-พฤษภาคม) ประมาณ 8.125 ล้านตัน) และมากกว่าปริมาณที่จัดหาได้เมื่อปีที่แล้ว (KMS 2019/20) ที่จัดหาได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 77.345 ล้านตัน

โดยจัดหาได้จากรัฐ Punjab ประมาณ 20.282 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26.2 ของข้าวที่จัดหาทั้งหมด ตามด้วยรัฐ Telangana ร้อยละ 11.5 รัฐ Uttar Pradesh ร้อยละ 8.6 รัฐ Odisha ร้อยละ 8.4 รัฐ Chattisgarh ร้อยละ 7.87 รัฐ Haryana ร้อยละ 7.3 รัฐAndhra Pradesh ร้อยละ 7.3 รัฐ Madhya Pradesh ร้อยละ 4.8 รัฐ Bihar ร้อยละ 4.5 รัฐ Tamil Nadu ร้อยละ 4.1 และรัฐอื่นร้อยละ 8.5 โดยมีเกษตรกรที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้แล้วประมาณ 11.704 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20.5073 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดจากราคาเฉลี่ยของข้าวที่รัฐบาลรับซื้อประมาณ 259 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน)

รัฐบาลอินเดียคาดว่าโครงการจัดหาข้าวในฤดู Kharif crop season ของปีการผลิต 2020/21 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2020 และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2021 จะสามารถจัดหาข้าวได้มากถึง 74.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปี 2019/20 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้เพิ่มจุดรับซื้อข้าวเพิ่มขึ้นจาก 30,709 จุด เป็น 39,122 จุดทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ประมาณ 15.7 ล้านราย และคาดว่าจะมีการจ่ายเงินให้เกษตรกรประมาณ 1,400,780 ล้านรูปี หรือประมาณ 18,786 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำ (the minimum support price; MSP) สำหรับฤดูการผลิต Kharif (มิถุนายน-กันยายน) สำหรับปี 2020/21 (ตุลาคม 2020-กันยายน 2021) โดยรัฐบาลได้ประเมินต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในปี 2020/21 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,245 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ166 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรมีผลกำไรประมาณร้อยละ 50 จากการเพาะปลูกข้าว รัฐบาลจึงกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำสำหรับข้าวคุณภาพธรรมดาไว้ที่ 1,868 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 249 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จาก 1,815 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 242 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) ในปี 2019/20 ขณะที่ข้าวคุณภาพดี (Grade ?A? paddy) กำหนดไว้ที่ 1,888 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 251 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 จาก 1,835 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (ประมาณ 244 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) ในปี 2019/20

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และ Oryza.com

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ