ไทย ร่วมมือ G20 แลกเปลี่ยนนโยบายเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร หลังโควิด-19 คลี่คลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 16, 2021 14:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ไทย ร่วมมือ G20 แลกเปลี่ยนนโยบายเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร หลังโควิด-19 คลี่คลาย

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุม International Conference on Food Loss and Waste ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดโดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 9-11 กันยายนที่ผ่านมา โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงาน และเลขาธิการ สศก. ได้รับเชิญบรรยายในประเด็นการลดการสูญเสียอาหารหลังเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากกลุ่มประเทศ G20 และประเทศอื่น ๆ กว่า 20 ประเทศ รวมถึงผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม

การประชุมดังกล่าว ได้มีการหารือเกี่ยวกับการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ของโลก การส่งเสริมความร่วมมืออย่างแข็งขันระหว่างนานาประเทศ โดยรวบรวมประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องด้านการสูญเสียอาหารและขยะอาหารของประเทศต่าง ๆ และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ของจีนในการกำหนดมาตรการเพื่อลดการสูญเสียอาหารและเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งประเด็นการสูญเสียอาหารและขยะอาหารในปัจจุบัน ถือเป็นความท้าทายของประชาคมระหว่างประเทศ

โอกาสนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงาน ด้านนโยบายเกี่ยวกับการลดการสูญเสียอาหาร (Food loss) และขยะอาหาร (Food waste) โดยสรุปว่า ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก เล็งเห็นความสำคัญของการสูญเสียอาหารและขยะอาหารที่ส่งผลกระทบต่อการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารของประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการขับเคลื่อนนโยบาย 3S คือ ความปลอดภัยทางอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนของทรัพยากร เพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร อีกทั้ง ยังมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ BCG Model ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจ สีเขียว ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน อีกทั้งยัง มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิต เพื่อลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ ตลอดวัฎจักรชีวิต และการนำวัสดุเหลือทิ้งเดิมมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทางอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยลดขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ทั้งนี้ การสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระดับประเทศ

ด้านเลขาธิการ สศก. ได้บรรยายในประเด็นการลดการสูญเสียอาหารหลังเก็บเกี่ยวว่า ประเทศไทยได้จัดทำแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 - 2579 มีเป้าหมายในการลดความสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิตลงร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบตัวชี้วัดความสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิตได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อลดการสูญเสียอาหารของผลผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ สนับสนุนการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย การยืดอายุของอาหารและสินค้าเกษตรในบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า การสนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อใช้ประโยชน์และต่อยอดไปสู่สินค้าเกษตรชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยนำวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ในอุตสาหกรรมและพลังงานทดแทนที่เกี่ยวเนื่องกับชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีการขับเคลื่อนโดยผ่านคณะอนุกรรมการด้านการลดการสูญเสียอาหาร ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว มีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน ซึ่งจะร่วมผลักดันให้มีการศึกษา วิจัย การสูญเสียอาหารในภาคการผลิตทางการเกษตร เพื่อประเมินความสูญเสียอาหารผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารระดับชาติ และใช้เป็นฐานข้อมูลระดับประเทศ (National Baseline) ในการคำนวณดัชนีการสูญเสียอาหารของโลก หรือ Global Food Loss Index สำหรับใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชนต่อไป

***********************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ