สศท.3 เผยแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ ‘เนื้อโคขุนโพนยางคำ’ GI จ.สกลนคร ส่งเสริมเกษตรกรใช้อาหาร TMR ลดต้นทุน เพิ่มรายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 7, 2022 15:12 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดสกลนครมีสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ สร้างรายได้ให้เกษตรกร และจังหวัดหลากหลายสินค้าด้วยกัน ซึ่ง ?เนื้อโคขุนโพนยางคำ? เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นหนึ่งในสินค้า GI ของจังหวัดได้มีการพัฒนายกระดับการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต เทคโนโลยีการจัดเก็บรวบรวมและแปรรูปสินค้า อุปกรณ์และเทคโนโลยีการยกขนสินค้า เทคโนโลยีการขนส่ง เทคโนโลยีการจัดการคลังสินค้า และเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับ

ในปี 2564 จังหวัดสกลนคร (ข้อมูลของกรมปศุสัตว์) พบว่า เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อครอบคลุมทั้ง 18 อำเภอ พบการเลี้ยงมากที่สุดในอำเภอเมืองสกลนคร โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อรวมทั้งจังหวัด 43,830 ราย จำนวนโคเนื้อรวมทั้งจังหวัด 219,512 ตัว ประกอบด้วย โคพื้นเมือง 107,174 ตัว โคลูกผสม 106,634 ตัว โคขุน 3,835 ตัว และโคพันธุ์แท้ 1,869 ตัว โดยมี สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด เป็นหน่วยส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เริ่มดำเนินการปี 2523 ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก 4,312 ราย ซึ่งสหกรณ์ฯ เป็นผู้รับซื้อผลผลิตโคขุนจากเกษตรกรสมาชิก โดยมีกรรมวิธีการฆ่าและชำแหละที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนมีห้องเย็นสำหรับบ่มซากเพื่อรักษาคุณภาพเนื้อให้มีคุณภาพ มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ ชำแหละแบ่งชั้นตามคุณภาพเนื้อตัดแต่งและบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะชิ้นส่วนเนื้อโคคุณภาพดี หรือ เกรดพรีเมี่ยม ส่งจำหน่ายให้แก่ โรงแรม ภัตตาคาร ร้านสเต็ก ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ เพื่อส่งตลาดต่างประเทศ

สศท. 3 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตเนื้อโคขุนโพนยางคำ เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาการวิจัยอาหารคุณภาพดี เพื่อลดต้นทุนการผลิตเนื้อโคขุนโพนยางคำ แต่ยังคงคุณภาพเนื้อโคขุนเกรดพรีเมียม ซึ่งจากการสัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 24 ราย ส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองสกลนคร พบว่า มีการใช้อาหารข้นสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม (Total Mixed Ration: TMR) ส่งผลให้เกษตรกร มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 66,001 บาท/ตัว ได้น้ำหนักเฉลี่ย 728.83 กิโลกรัม/ตัว ราคาที่เกษตรกรขายได้ 92,547 บาท/ตัว ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 26,546 บาท/ตัว ในขณะที่การให้อาหารข้นอย่างเดียว มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 73,685 บาท/ตัว ได้น้ำหนักเฉลี่ย 714.61 กิโลกรัม/ตัว ราคาที่เกษตรกรขายได้ 91,421 บาท/ตัว ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 17,736 บาท/ตัว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการผลิตโคขุนโพนยางคำที่มีการใช้อาหาร TMR เกษตรกรจะมีต้นทุนน้อยกว่าการใช้อาหารข้นอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 10.43 และได้ผลตอบแทนสูงกว่าคิดเป็น ร้อยละ 49.67 เนื่องจากการใช้อาหาร TMR ช่วยลดตันทุนค่าอาหารสัตว์ เกษตรกรจึงได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในพื้นที่ ยังไม่มีการปรับใช้อาหาร TMR ทั้งหมด เนื่องจากต้นทุนจากการใช้เครื่องผสมอาหาร รวมทั้งการอบรมให้ความรู้และการส่งเสริมในด้านกระบวนการผลิตและการปรับใช้อาหาร TMR ยังไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้อาหาร TMR เพื่อลดต้นทุนการผลิตเพิ่มรายได้ และเป็นการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

ทั้งนี้ สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เป็นต้น ได้ร่วมกันขับเคลื่อนโดยมีแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเนื้อโคขุนโพนยางคำอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งเสริมการผลิตเนื้อโคขุนโพนยางคำให้มีคุณภาพเทียบเคียงกับเนื้อโคในตลาด High end ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ การส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตที่ตกเกรดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนและพัฒนาปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์เข้าสู่มาตรฐาน GMP-Halal ช่วยให้สามารถทำการแข่งขันในตลาดโลกได้ พัฒนาศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้าเนื้อโคขุนโพนยางคำที่ได้มาตรฐาน GMP-Halal และจัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคเนื้อและผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนโพนยางคำ ความต้องการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตเนื้อโคขุนโพนยางคำที่มีคุณภาพ ได้แก่ การสนับสนุนและพัฒนาเครื่องผสมอาหารสัตว์ (TMR) เครื่องสแกนพันธุกรรมของโคขุนมีชีวิตหรืออยู่ในระยะการขุนเพื่อตรวจสอบลักษณะความนุ่มของเนื้อและไขมันแทรก และใช้ในการวางแผนการผลิตให้ได้เนื้อไขมันแทรกในระดับ 3.5 (เกรดพรีเมี่ยม) เทคโนโลยีคอกขุนแบบ Real Time การตรวจสอบย้อนกลับด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (เช่น Application) เทคโนโลยีแยกน้ำเชื้อ และการจัดตั้งศูนย์พันธุกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ จากผลการติดตามของ สศท.3 ซึ่งจะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบผลงานวิจัยเพื่อการศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาพรวมประเทศ กรณีศึกษาเนื้อโคขุนโพนยางคำ หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตอาหาร TMR สำหรับเลี้ยงโคขุนโพนยางคำ สอบถามได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร โทร 04 2711 756 หรือ ข้อมูลสถานการณ์การผลิตเนื้อโคขุนโพนยางคำ จ.สกลนคร สอบถามได้ที่ สศท.3 โทร 04 2292 557 หรืออีเมล zone3@oae.go.th

******************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ