สศก. ชูผลการประเมินโครงการสายใยรักฯ ใน 3 จังหวัดนำร่อง

ข่าวทั่วไป Monday December 1, 2008 14:16 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงผลประเมินโครงการสายใยรักฯ ในพื้นที่เป้าหมายนำร่อง 3 จังหวัด เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช เผย สมาชิกโครงการฯ ร่วมทำกิจกรรมทางการเกษตร ได้ผลผลิตมูลค่ารวมเฉลี่ย 2,562 บาท/ครัวเรือน/ปี ช่วยเสริมเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือนจากการเก็บไว้บริโภค ครอบครัวอบอุ่นขึ้น

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ปี 2551 ในพื้นที่เป้าหมายนำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช ที่ดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 เป็นต้นมา เพื่อให้หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมลูกได้บริโภคอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ส่งเสริมการทำการเกษตรในครัวเรือนเพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่ายของครอบครัว โดยมีสมาชิกในพื้นที่นำร่อง จำนวน 251 ราย และปัจจุบันขยายผลในพื้นที่ 76 จังหวัด มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 26,568 ราย

ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ประเมินผลในพื้นที่นำร่อง ช่วงปีงบประมาณ 2549 ถึง 2551 ซึ่งในด้านส่งเสริมการเกษตรและอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ พบว่า สภาพทางด้านเศรษฐกิจ สมาชิกโครงการฯ สามารถลดรายจ่ายได้ส่วนหนึ่งจากการมีผลผลิตทางการเกษตรไว้บริโภคเองในครัวเรือน ด้านสังคม สมาชิกมีความเป็นอยู่และความอบอุ่นในครอบครัวดีขึ้น ด้านสุขภาพอนามัย สมาชิกได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการจากการทำการเกษตรในครัวเรือน และสมาชิกได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยของครัวเรือนมากขึ้น

สำหรับด้านผลประโยชน์ที่เกิดจากกิจกรรมเกษตรสมบูรณ์ฯ และกิจกรรมอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ในปี 2551 พบว่า ได้รับผลผลิตคิดเป็นมูลค่ารวมเฉลี่ย 2,562 บาทต่อครัวเรือนต่อปี มูลค่าดังกล่าว แบ่งเป็นการบริโภคในครัวเรือน 933 บาทหรือร้อยละ 36.42 จำหน่าย 1,197 บาทหรือร้อยละ 46.71 มูลค่าผลผลิตคงเหลือร้อยละ 11.44 และแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านร้อยละ 5.43 ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ต้องการให้สมาชิกได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า ช่วยลดรายจ่าย มีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิต นอกจากนี้ การดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ยังช่วยให้สมาชิกในครัวเรือนได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา การบำเพ็ญประโยชน์และนันทนาการในชุมชน ฯลฯ ส่งผลให้สมาชิกร้อยละ 84.49 รู้สึกว่ามีความเป็นอยู่และความอบอุ่นในครอบครัวดีขึ้น และร้อยละ 84.90 มีการดูแลสุขภาพและครัวเรือนของตนเองอยู่ในระดับดี โดยการออกกำลังกาย การทำความสะอาดที่อยู่อาศัย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ด้านปัญหาการส่งเสริมให้ความช่วยเหลือและติดตามผลการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงาน พบว่ายังขาดความต่อเนื่อง รวมทั้งด้านอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ยังมีปัญหาตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของโครงการฯ เห็นควรวางแผนและดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการ รวมทั้งสำรวจความต้องการของสมาชิกแต่ละราย เพื่อให้การส่งเสริมสอดคล้องกับความต้องการ ส่วนกิจกรรม อาชีพเสริม ควรพัฒนาการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการหาช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ