สศก. เผยประชากรภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง ชี้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday December 15, 2008 13:16 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย จำนวนและสัดส่วนประชากรในภาคเกษตรลดลงและเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ชี้รัฐจำเป็นต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องทั้งในด้าน การจัดหาสวัสดิการหรือหลักประกันทางสังคม พร้อมหาแนวทางในการเพิ่มแรงงานเกษตร รุ่นใหม่ รวมถึงการรองรับแรงงานภาคอุตสาหกรรมจากวิกฤตเศรษฐกิจ และการเพิ่มศักยภาพให้กับแรงงานในภาคเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงประชากรและแรงงานเกษตร พบว่า ในปัจจุบันประชากรเกษตรมีจำนวน 22.7 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 35 ของประชากรทั้งประเทศ ลดลงจากปี 2541 ร้อยละ 1.87 ต่อปี ประชากรเกษตรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 10 ของประชากรเกษตรทั้งหมด และแม้ว่าประชากรเกษตรร้อยละ 90 จะเป็นผู้ที่อยู่ประจำในครัวเรือนแต่ก็มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ผู้เคลื่อนย้ายเข้า - ออกในระหว่างปีการเพาะปลูกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ประชากรเกษตรส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับภาคบังคับ แต่ผู้ที่จบการศึกษาในระดับที่สูงกว่าภาคบังคับก็มีแนวโน้ม ที่สูงขึ้น แรงงานในครัวเรือนเกษตรที่มีงานทำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โดยอาชีพหลักส่วนใหญ่เป็นการทำงานในด้านการเกษตรและกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ที่มีอาชีพเพาะปลูกพืช แต่สัดส่วนของแรงงานที่ทำอาชีพเกษตรมีแนวโน้มลดลง จำนวนครัวเรือนที่มีการจ้างแรงงานเพื่อมาช่วยทำการเกษตรมีมากในฟาร์มประเภทข้าว พืชไร่และพืชผัก สำหรับอัตราค่าจ้างแรงงานในภาคเกษตรพบว่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 129 บาท / คน / วัน ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานของแรงงานที่รัฐประกาศใช้ ส่วนผลิตภาพของแรงงานเฉลี่ยต่อคนต่อปีมีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 7,585 บาท / คน / ปีในปีการเพาะปลูก 2541/42 เป็น 33,524 บาท / คน / ปี ในปีการเพาะปลูก 2549/50 โดยครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนได้รับการอบรมทางการเกษตรจะมีผลิตภาพของแรงงานมากกว่าครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนไม่ได้รับการอบรมทางการเกษตรอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกันหัวหน้าครัวเรือนที่มีระดับการศึกษาที่สูงกว่าก็มีผลิตภาพแรงงานมากกว่าหัวหน้าครัวเรือนที่มีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่า

ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับแรงงานเกษตร และรองรับแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากจะต้องเน้นในเรื่องของการอบรมวิชาชีพเฉพาะตามที่เกษตรกรมีความต้องการเพื่อพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ในทุกระดับวัยแล้ว การจัดหาสวัสดิการหรือหลักประกันทางสังคมในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ ชราภาพ การเสียชีวิต ตลอดจนการปรับอัตราค่าจ้างให้แก่ผู้สูงอายุและแรงงานเกษตรให้มีความเท่าเทียมกับผู้ที่อยู่นอกภาคเกษตรก็เป็นสิ่งที่รัฐจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชากรเกษตรสามารถเข้าถึงสวัสดิการหรือหลักประกันเหล่านั้นได้อย่างทั่วถึงไม่ถูกทอดทิ้ง เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และเป็นแรงจูงใจให้แรงงานที่เคยออกไปอยู่นอกภาคเกษตรได้กลับคืนถิ่นมาอยู่ในภาคเกษตรที่เคยเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการ ขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรได้ในอนาคต นายอภิชาต กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ