สศก. เผย ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 51 และแนวโน้มปี 52

ข่าวทั่วไป Monday December 15, 2008 13:18 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ สรุปภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี’51 จีดีพีโต 4.4% พร้อมคาดการณ์ปีหน้าภาคเกษตรหดตัวเล็กน้อยหลังเศรษฐกิจโลกถดถอย ชูพืชเศรษฐกิจข้าวและปศุสัตว์ยังมาแรง ขณะที่สาขาประมงและป่าไม้ซบเซาต่อเนื่อง วอนรัฐบาลใหม่เร่งหามาตรการรองรับภาคเกษตรชะลอตัว

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาทำให้พื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง ล้วนส่งผลกระทบด้านลบต่อการเติบโตของภาคเกษตรในภาพรวม ซึ่ง สศก.ได้ประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี ภาคเกษตรในปี 2551 มีอัตราการขยายตัว 4.4% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อตอนต้นปี แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมของผลผลิตและระดับราคาสินค้าเกษตรยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสาขาที่มีการขยายตัวได้แก่ พืช ปศุสัตว์ และบริการทางการเกษตร ในขณะที่สาขาประมงและป่าไม้มีการหดตัวลงเล็กน้อย ซึ่งสาขาพืชมีสัดส่วนการขยายตัวถึง 6.2% เนื่องจากผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิด ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน

สาขาปศุสัตว์ขยายตัว 1.7% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการพัฒนาการเลี้ยงไก่อย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน รวมทั้งปลอดการระบาดของโรคไข้หวัดนกเกือบตลอดปี 2551 ทำให้สัดส่วนการส่งออกสินค้าปศุสัตว์โดยเฉพาะเนื้อไก่แปรรูปเพิ่มมากขึ้น ส่วนสาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.6% เนื่องจากในปีนี้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกพืชสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะข้าวมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ทำให้มีการใช้บริการในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนสาขาประมงหดตัวลง 0.1% จากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำประมงทะเล ขณะที่ผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงลดลงเช่นกันจากต้นทุนอาหารกุ้งเพิ่มขึ้นและราคากุ้งตกต่ำ การส่งออกสินค้าประมงลดลง เนื่องจากการบริโภคทั้งในประเทศและตลาดโลกชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับสาขาป่าไม้ที่หดตัวลง 3.1% จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้การลงทุนของภาคเอกชนลดลง ส่งผลต่อเนื่องถึงปริมาณการใช้ไม้ลดลงด้วย

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2552 สศก. คาดว่าแนวโน้มจีดีพีภาคเกษตรจะขยายตัวอยู่ในระดับ 3-4% ชะลอลงจากปี 2551 เล็กน้อย เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะด้านราคาสินค้าเกษตรที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการบริโภคของประชากรชะลอตัว ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยหลายชนิดมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงและค่าเงินบาทที่ค่อนข้างเสถียรภาพ ทั้งนี้ สาขาที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2552 ยังคงเป็นสาขาพืช ปศุสัตว์และบริการทางการเกษตรเหมือนกับปีนี้ โดยเฉพาะสาขาพืชคาดว่าจะขยายตัว 4.7-5.7% จากสินค้าข้าวเป็นหลัก สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.1-2.1% สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 2.1-3.1% ส่วนสาขาประมง คาดว่าจะหดตัวลง 2.7% สาขาป่าไม้ หดตัวลง 3.6%

จากการประเมินสถานการณ์ของภาคเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวที่ค่อนข้างชัดเจนในปีหน้า ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมภาครัฐควรเร่งหามาตรการรองรับการชะลอตัวของภาคเกษตรที่จะมาถึง เช่น การขยายตลาดส่งออก การสนับสนุนการแปรรูปสินค้าผลิตภัณฑ์เกษตรให้มีความหลากหลายและสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรองรับผลกระทบจากการทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ นายอภิชาต กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ