สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ
สัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากมีการควบคุมปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วิเคราะห์สถานการณ์การบริโภคเนื้อไก่ในตลาดญี่ปุ่นพบว่าการบริโภคของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่นิยมเนื้อไก่มากถึงร้อยละ 90 แบ่งเป็นการบริโภคในครัวเรือนที่มีถึงร้อยละ 60 ชอบบริโภคส่วนขามากกว่าเนื้อส่วนอก ส่วนกลุ่มบริการอาหาร ร้อยละ 30 ใช้เนื้อไก่สดนำเข้าจากบราซิล บางส่วนนำเข้าเนื้อไก่แปรรูป และกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูป ร้อยละ 10 ความต้องการบริโภคเนื้อไก่ของญี่ปุ่นปีละประมาณ 1.935 ล้านตัน ผลิตได้เอง 1.2 ล้านตัน นำเข้า 7 แสนตันต่อปี โดยนำเข้าจาก จีน บราซิล และไทย แยกเป็นไก่แปรรูป 3.2 แสนตัน และไก่สด 4 แสนตัน ไทยมีสัดส่วนไก่แปรรูป 1.5 แสนตัน เพิ่มสูงขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่มีสัดส่วนการนำเข้า 1 แสนตัน ทั้งนี้ผลจากที่จีนมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร ส่งผลให้การนำเข้าไก่แปรรูปจากจีนลดลงมากเมื่อปีที่ผ่านมา โดยหันมานำเข้าจากไทยแทน ทั้งนี้ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 เทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อไก่ ปริมาณ 5.27 แสนตัน เป็นไก่แปรรูป 218,393 ตัน ลดลงร้อยละ 13.3 มูลค่า 91,969 ล้านเยน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.8 โดยนำเข้าจากจีนลดลง ร้อยละ 39 แต่นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.5 ไก่สดญี่ปุ่นนำเข้ารวม 309,338 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.5 มูลค่า 92,070 ล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความต้องการเนื้อไก่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะของกลุ่มบริการอาหารและกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปที่มีสต็อกสินค้าไว้มาก เนื่องจากกลัวการขึ้นราคาของเนื้อไก่บราซิล ในปี 2552 คาดว่าญี่ปุ่นจะหันมาใช้เนื้อไก่ที่ผลิตในประเทศมากขึ้น การผลิตไก่ในญี่ปุ่นจะฟื้นตัวเพราะมาตรการอุดหนุนราคาอาหารสัตว์ของรัฐบาลญี่ปุ่น ส่วนด้านราคาเนื้อไก่จะถูกกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ดังนั้นราคาจะเป็นตัวผลักดันให้มีการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้น ในส่วนของจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร และความต้องการบริโภคในจีนเองยังสูงขึ้น ขณะที่ไก่ของไทยยังมีราคาสูงมาก และต้องเสนอราคาซื้อแข่งกับตลาดสหภาพยุโรปหรืออียู อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าไว้ พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาตลาดใหม่และรักษาสัดส่วนในตลาดของไทยไว้ จากความต้องการบริโภคเนื้อไก่ของญี่ปุ่นยังคงในอัตราที่สูง คาดจะส่งผลให้การนำเข้าปี 2552 ยังคงสูงขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดไก่แปรรูปให้ได้ในสัดส่วนที่ญี่ปุ่นลดการนำเข้าจากจีน และไก่สดของบราซิลที่แนวโน้มลดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องระมัดระวังปัจจัยที่จะส่งผลกระทบเรื่องค่าเงินเยนที่สูงขึ้นด้วย
ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ
ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 36.82 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 36.71 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.30 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 39.41 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.63 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 36.10 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงานในสัปดาห์นี้ ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 9.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 37.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 46.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 47.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.11
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 9-15 กุมภาพันธ์ 2552--