สศก.เผยเกษตรกรภาคตะวันออกปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ขานรับราคาน้ำตาลพุ่ง

ข่าวทั่วไป Tuesday June 30, 2009 13:53 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 จังหวัดชลบุรี เผยทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ราคาอ้อยปี 2552 / 2553 ไม่ต่ำกว่าฤดูเพาะปลูกที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรในภาคตะวันออกขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ตอบรับราคาน้ำตาลในตลาดที่พุ่งสูง ด้าน กอน.คาดปีเพาะปลูกนี้จะมีกำลังผลิตน้ำตาลในตลาดโลกรวมกันเพียง 155 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการบริโภคมีถึง 159 - 160 ล้านตัน ชี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกขาดตลาดประมาณ 4 - 5 ล้านตัน

นางสุวคนธ์ ทรงแสงธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 จังหวัดชลบุรี (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ฤดูการหีบอ้อย ปี 2551 / 52 ที่ผ่านมาภาคตะวันออกมีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมทั้งสิ้น 3,229,324 ตัน จากโรงงานที่เปิดหีบอ้อยรวม 4 โรงงาน คือ โรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออก มีอ้อยหีบจำนวน 1,760,277 ตัน โรงงานสหการราชบุรี จำนวน 666,129 ตัน โรงงานระยอง จำนวน 538,835 ตัน และโรงงานนิวกว้างซุนหลี จำนวน 264,081 ตัน โดยเป็นผลผลิตอ้อยสดรวม 800,853 หรือร้อยละ 25 และอ้อยไฟไหม้รวม 2,428,417 ตัน หรือร้อยละ 75 และมีความหวานเฉลี่ยที่ 11.88 ซี.ซี.เอส ซึ่งต่ำกว่าค่าความหวานเฉลี่ยของประเทศที่ระดับ 12.28 ซี.ซี.เอส สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2552 ถือว่าดีที่สุดในรอบหลายปี ส่งผลให้ราคาอ้อยปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2551 / 52 จะอยู่ที่ระดับ 920 บาทต่อตันอ้อย จากราคาขั้นต้นปีนี้ที่ 830 บาทต่อตันอ้อย และหากรวมค่าความหวานเฉลี่ยที่ระดับ 12.28 ซี.ซี.เอส ที่ปิดหีบในฤดูกาลนี้น่าจะทำให้ราคาอ้อยเฉลี่ยทั้งประเทศปีนี้ยืนอยู่ที่ระดับ 1,000 บาทต่อตันอ้อย และในภาคตะวันออกราคาอ้อยปี 2551 / 52 จะไม่ต่ำกว่า 950 บาทต่อตันอ้อย

ในขณะเดียวกันทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ยู่ในระดับสูง จะทำให้ราคาอ้อยปี 2552 / 2553 ไม่ต่ำกว่าปี 2551 / 2552 โดยทั้งนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) คาดการณ์ว่า ปี 2552 / 2553 จะมีกำลังผลิตน้ำตาลในตลาดโลกรวมกันเพียง 155 ล้านตัน แต่การบริโภคมีถึง 159 - 160 ล้านตัน ทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกจะขาดตลาดอยู่ 4 - 5 ล้านตัน ทั้งนี้ปริมาณน้ำตาลที่ยังขาดแคลนต่อเนื่องเกิดจาก 3 เหตุผลหลัก คือ (1) ประเทศบราซิลผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่จะนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้น (2) ประเทศในกลุ่ม อียูยกเลิกการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในการส่งออกทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกไม่สมดุลกับการบริโภคน้ำตาล และ (3) อินเดียประเทศผู้บริโภคน้ำตาลรายใหญ่ของโลกไม่มีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มมากขึ้นทำให้ต้องนำเข้าน้ำตาลเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของ กอน. ในเรื่องราคาอ้อยขั้นต้นที่เกษตรกรจะได้รับซึ่งอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เป็นสิ่งกระตุ้นและจูงใจที่สำคัญให้ชาวไร่อ้อยในภาคตะวันออกขยายพื้นที่ปลูกอ้อยฤดูผลิตใหม่เพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด โดยลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังซึ่งมีราคาตกต่ำ และปีนี้เกิดปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดในมันสำปะหลังอย่างหนักในทุกพื้นที่ด้วย เมื่อคาดการณ์ว่าพื้นที่ปลูกอ้อยจะเพิ่มขึ้นในฤดูกาลหน้า สิ่งสำคัญที่ยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือเน้นการเก็บเกี่ยวอ้อยสดให้มากขึ้น เพราะปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่เกษตรกรตัดส่งโรงงานในปีนี้ยังมีมากถึงร้อยละ 75 ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรหยุดเผาอ้อยโดยการตัดอ้อยสดเข้าโรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรได้ความหวานเพิ่มและราคาเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ จากการขยายพื้นที่ปลูกดังกล่าว ยังเป็นการเตรียมการรองรับภาวะการขาดแคลนน้ำตาลในตลาดโลกที่อาจจะเกิดขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย นางสุวคนธ์ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ