คณะผู้แทนไทยเยือนแดนมังกร เพื่อร่วมประชุมเขตเศรษฐกิจโลก เผยที่ประชุมเห็นชอบให้โครงการผลิตพลังงานชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร (การผลิตพลังงานชีวภาพรุ่น 2 ซึ่งผลิตจากวัสดุที่มิใช่อาหาร) เป็นโครงการที่มีความสำคัญอันดับ 1 พร้อมอัดฉีดเงินสนับสนุนการจัดประชุมทางวิชาการในปี 2553 หวังสร้างเครือข่ายนักวิจัยและภาคเอกชน
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านวิชาการภาคเกษตรของเอเปค (APEC Agricultural Technical Cooperation Working Group: APEC ATCWG) ครั้งที่ 13 เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ สาธารณัฐประชาชนจีน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเสนอโครงการ “Biofuels from Agricultural and Agro-Industrail Wastes” ซึ่งมีอาจารย์จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากเอเปค โดยมีวัตุประสงค์ที่จะนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวล
ซึ่งที่ประชุม APEC ATCWG ได้เห็นชอบโครงการดังกล่าวมีความสำคัญเป็นลำดับที่ 1 และจะพิจารณาให้เงินสนับสนุนแก่ไทยเพื่อจัดประชุมทางวิชาการ ที่กำหนดจัดขึ้นในปี 2553 โดยจะมีผู้แทนทั้งภาครัฐและเอกชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีน (ฮ่องกง) อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีน (ไทเป) ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียตนาม เข้าร่วมด้วย โดยวางแผนจะใช้กรณีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวล มาใช้เป็นกรณีศึกษาในการประชุมทางวิชาการดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาการผลิตพลังงานชีวภาพรุ่น 2 ซึ่งผลิตจากวัสดุที่มิใช่อาหารสำหรับการค้าในอนาคต ยังจะเป็นการสร้างเครือข่ายนักวิจัยและภาคเอกชนอีกด้วย
นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ผู้แทนไทยยังได้เสนอขอปรับปรุงร่างแผนปฏบัติการด้านความมั่นคงทางอาหารของเอเปค เพื่อให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับควมต้องการการนำเสนอโครงการของเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาโดยรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว นางนารีณัฐ กล่าวทิ้งท้าย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--