สศก. เดินสาย 25 จังหวัด ติดตามผลกิจกรรมการแปรรูปผลผลิตเกษตรปี 51

ข่าวทั่วไป Wednesday July 15, 2009 15:19 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผย ผลประเมินกิจกรรมพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเกษตร ในพื้นที่ 25 จังหวัด พบกลุ่มผู้ผลิตที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้เรียนรู้และพัฒนาแนวทางการผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดี จนสามารถนำไปปฏิบัติได้ถึงร้อยละ 74 มีการต่อยอดรูปแบบ แปรรูปบรรจุภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน และได้คุณภาพ แนะ สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในชุมชนและนอกพื้นที่ เพื่อส่งเสริมช่องทางการตลาด

นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกิจกรรมพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเกษตร ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรเกษตรกรปี 2551 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้องค์กรหรือกลุ่มเกษตรกรมีการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรและบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับสินค้าให้สามารถเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งในปี 2551 ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็น 3 ระดับ คือกลุ่มระดับพื้นฐานแปรรูปผลผลิต กลุ่มระดับพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ และกลุ่มระดับพัฒนาธุรกิจแปรรูปผลผลิตภัณฑ์ รวม 480 กลุ่มทั่วประเทศ ซึ่ง สศก. มีภารกิจในการประเมินผลการดำเนินงานของกลุ่ม ศึกษาปัญหารวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อผลักดันให้การดำเนินกิจกรรมตามโครงการบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ซึ่งจากลงพื้นที่ของ สศก. เพื่อติดตามประเมินผลโดยสุ่มพื้นที่ 25 จังหวัด จำนวน 104 กลุ่ม พบว่า ด้านการสนับสนุนการเรียนรู้ เทคโนโลยีการผลิต เพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินงาน พัฒนาแนวทางการผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดี (GMP) มีกลุ่มผู้ผลิตนำความรู้จากการสนับสนุนไปปฏิบัติแล้วถึงร้อยละ 74 ส่วนที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตยังไม่มีสถานที่ผลิตที่แน่นอน และขาดเงินทุน เพราะเป็นกลุ่มพื้นฐานการแปรรูปที่เพิ่งเริ่มดำเนินงาน ส่วนการใช้งบประมาณที่สนับสนุนกลุ่มจากโครงการ ในกลุ่มระดับพื้นฐานแปรรูปผลผลิตและกลุ่มระดับพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 64 ใช้เพื่อทำบรรจุภัณฑ์หรือฉลาก ขณะที่กลุ่มระดับพัฒนาธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 69 ใช้เพื่อปรับปรุงสถานที่ผลิตและใช้สำรองวัตถุดิบเพื่อการผลิต ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สินค้า จนสมาชิกในกลุ่มยึดเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัวและตนเองได้

สำหรับด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม พบว่า กลุ่มผู้ผลิตร้อยละ 78 มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านชนิดและตัวผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น มาตรฐานที่ได้รับการรับรองมากที่สุดได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.) อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของกลุ่มผู้ผลิตแปรรูปผลผลิตเกษตรยังประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น กลุ่มยังไม่มีสถานที่ผลิตที่แน่นอน ปัญหาด้านวัตถุดิบ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอต่อการผลิต ปัญหาการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ และปัญหาสำคัญที่พบคือ ปัญหาด้านการตลาด ซึ่ง สศก. จะร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันส่งเสริมการตลาด คือ กระบวนการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในชุมชนและนอกพื้นที่ รวมทั้งการบูรณาการด้านแผนส่งเสริมการตลาดของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อที่จะเป็นสื่อช่วยขยายช่องทางการตลาด และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ