ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Friday July 9, 2010 14:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้สุกรโตช้าและสุกรที่ออกสู่ตลาดมีขนาดเล็กกว่าปกติ แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

สถานการณ์ในประเทศ

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 มีรายงานข่าวว่ามีการระบาดของโรคสุกรในพื้นที่อำเภอท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ และโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ทำให้สุกรป่วยและตายโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นจำนวนมากนั้น ปศุสัตว์จังหวัดหนองคายแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอ ได้ออกสอบสวนโรค

1. พร้อมเก็บซากสัตว์ที่ป่วยตาย ส่งไปตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ขณะนี้กำลังรอผลการตรวจอย่างละเอียดและผลการตรวจสอบโรคเพิ่มเติมอยู่

2. เบื้องต้นผลการวินิจฉัยจากห้องปฏิบัติการ พบว่าสุกรติดเชื้อ PRRS หรือ Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางระบบสืบพันธุ์และระบบหายใจ โดยอาการของโรค สุกรที่ป่วยจะมีไข้สูง ตัวแดงและระบบหายใจไม่สะดวก ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ติดต่อถึงคน แต่สามารถแพร่ระบาดในสุกรด้วยกันด้วยการสัมผัส หรือหายใจร่วมกัน การป้องกันโรคนี้คือห้ามนำสุกรจากที่อื่นมาเลี้ยงรวมกับสุกรที่อยู่ในพื้นที่ สำหรับโรค PRRS มีวัคซีนป้องกัน แต่ค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งเป็นโรคใหม่และไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดจึงไม่ได้สนับสนุนให้มีการนำวัคซีนมาใช้ จะเน้นการป้องกันและรักษาเป็นหลัก

รายงานข่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2553 พบว่ามีสุกรป่วยและตายใน 3 อำเภอ ดังกล่าว เป็นสุกรป่วยประมาณ 700 ตัว และตายแล้วเกือบ 50 ตัว สุกรที่ตายส่วนใหญ่จะเป็นสุกรรุ่น หรือลูกสุกร ขนาดเล็กน้ำหนักต่ำกว่า 50 กิโลกรัม เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันโรคไม่แข็งแรง ส่วนสุกรขนาดใหญ่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป หรือพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ อัตราการตายน้อย แต่แม่สุกรที่ตั้งท้องจะมีการแท้งลูกได้

สถานการณ์ต่างประเทศ

องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้รับแจ้งจากไต้หวันว่ามีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ในฟาร์มของเมือง Yunlin ในไต้หวัน โดยตรวจพบสุกร 112 ตัวเป็นโรค FMD ในขณะที่ 1,296 ตัว มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อนี้ และได้ทำลายสุกรไปแล้ว 163 ตัว ทั้งนี้ ฟาร์มสุกร 16 ฟาร์ม ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากฟาร์มที่พบโรค FMD กำลังอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการติดเชื้อในฟาร์มเหล่านี้

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 62.54 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 62.46 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.13 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 62.59 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 61.72 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 62.65 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 63.34 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,900 บาท (บวกลบ 60 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 61.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ไก่เนื้อสัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณไก่ใหญ่ออกมาก ไก่เหลือสะสม น้ำหนักจับออกมากและบางพื้นที่มีขนาดเกินไซต์มาก ทำให้ราคาโดยรวมปรับลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาปรับตัวลดลง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 45.12 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 45.48 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.79 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 46.52 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 42.44 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 18.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 39.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 10.13 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 50.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 52.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.81

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่สัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นุทนการผลิตที่สูงขึ้น (อาหารสัตว์ ภัยแล้ง) แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย

บริษัทซีพีเอฟ ได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์นำไข่ไก่ไปจำหน่ายในโครงการธงฟ้า ณ ห้างแม็คโคร บิ๊กซี และท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เพื่อร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคต่อปัญหาราคาไข่ไก่ด้วย ขณะเดียวกันก็ได้จัดกิจกรรม “คาราวานซีพีเอฟลดค่าครองชีพประชาชน”ด้วยตระหนักดีถึงภาระค่าครองชีพในปัจจุบัน จึงนำผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพมาจำหน่ายในราคาลดพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไข่ไก่” ในพื้นที่ต่างๆ ระหว่างวันที่ 1- 4 กรกฎาคม 2553 ณ บริเวณสนามกีฬาพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม จ.เชียงใหม่ อุดรธานี และ ราบ 11 กรุงเทพมหานคร

ธุรกิจไข่ไก่เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เพียง 4% ของรายได้รวมทั้งหมดของซีพีเอฟ โดย 3% เป็นการดำเนินโครงการเพื่อสังคมใน 2 ส่วน ได้แก่ การทำฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย จำนวนกว่า 3,000 ครอบครัวให้สามารถดำรงชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนภายใต้การดูแลเอาใจใส่และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอย่างมีมาตรฐานของซีพีเอฟ และอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารสามารถสร้างผลผลิตไข่ไก่ด้วยตนเอง และมีไข่ไก่รับประทานเป็นอาหารกลางวัน ช่วยลดปัญหาทุพโภชนาการของเด็กไทยได้แล้วกว่า 80,000 คน กว่า 320 โรงเรียน ตลอดจนทำให้เด็กไทยมีวิชาชีพเกษตรติดตัวใช้เลี้ยงชีพได้ในอนาคต ที่เหลือเป็นไข่ไก่ที่ขายภายใต้แพ็คแบรนด์ซีพี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การันตีคุณภาพผลิตภัณฑ์ถึงความปลอดภัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้าน ซีพี เฟรชมาร์ท และ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

สำหรับสถานการณ์ราคาไข่ไก่ในขณะนี้ นายอดิเรกกล่าวว่า จะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง พอเข้าสู่ฤดูฝนที่ความร้อนคลี่คลาย ความเสียหายของผลผลิตไข่ไก่จะลดลงและระดับราคาจะเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไก่ไข่ต้องประสบความเสียหายจากวิกฤตไข้หวัดนกเมื่อปี 2547 รวมถึงปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนภาวะอากาศร้อนจัดแล้งจัดที่เกิดขึ้นในปีนี้ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อว่าทุกอย่างจะคลี่คลายในทางที่ดี

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 280 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 278 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.79 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 299 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 261 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 281 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 283 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 30.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 305 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่าน

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 311 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 304 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.16 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 345 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 308 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 292 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 325 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.55 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.66 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.26 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.79 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.17 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 46.84 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 46.35 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.33 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.40 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.20 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 50.50 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.29 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฏาคม 2553--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ