สศก. ลงพื้นที่หารือแนวทางการขยายพื้นที่การปลูกข้าวอินทรีย์

ข่าวทั่วไป Friday July 30, 2010 14:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุมหารือแนวทางการขยายพื้นที่การปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์และแนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาแทนการทำนาปรังในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานข้าวหอมมะลิของไทย

นายวัชระชัย ผสมทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 (สศข.4) จ.ขอนแก่นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับพื้นที่ 5 จังหวัดในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เกี่ยวกับการขยายขอบเขตเป้าหมายพื้นที่การปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพิ่มเติมเฉพาะในพื้นที่เขตทุ่งกุลาร้องไห้ และนอกเขตทุ่งกุลาร้องไห้ในช่วง 3 ปี (ปี 2554-2556) จำนวน 400,000 ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ 157,000 ไร่ และนอกเขตทุ่งกุลาร้องไห้ 243,000 ไร่ เพื่อเป็นการสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับ อาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นและเป็นการสร้างมูลค่าการส่งออกข้าวคุณภาพและนำเข้ารายได้จากต่างประเทศกว่า 4,000 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ถือว่าเป็นพื้นดินที่มีค่าที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากสามารถผลิตข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก แต่เนื่องจากปีการผลิต 2552/53 การทำนาปรังในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ขยายเพิ่มมากขึ้น โดยบางส่วนใช้พันธุ์ข้าวชัยนาท 1 หรือสุพรรณบุรี ซึ่งจะก่อให้เกิดการปลอมปนคุณภาพข้าว ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้ ดังนั้น เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานข้าวหอมมะลิในเขต ทุ่งกุลาร้องไห้ให้ดีตลอดไป จึงมีการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาทดแทนการทำนาปรัง เพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของเกษตรกรในการเลือกปลูกพืชแต่ละชนิด อาทิ ถั่วเหลือง ซึ่งปัจจุบันราคาอยู่ที่ 15.5 บาท /กก. ถั่วเขียวราคาอยู่ที่ 40.70 บาท/กก. ถั่วลิสงราคาอยู่ที่ 22.90 บาท/กก. และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาอยู่ที่ 9.05 บาท/กก. ซึ่งพืชตระกูลถั่ว นับว่ามีคุณสมบัติช่วยบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มไนโตรเจนในดิน และยังเป็นการตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลของข้าวนาปีด้วย สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ต้องใส่ปุ๋ยมาก ใช้น้ำน้อย ซึ่งตัวแทนเกษตรกรจาก 5 ตำบล ของอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 107 คน ได้ให้ความสนใจที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา โดยจะปลูกเป็นอำเภอนำร่องในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดรองรับ ทางบริษัทเอกชน ได้ให้ความมั่นใจว่าพร้อมจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทันที นายวัชระชัย กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ