ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Wednesday August 25, 2010 13:25 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 1)

มติ กขช. ครั้งที่ 9/2553 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553 เห็นชอบกรอบหลักเกณฑ์ดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี2553/2554 รอบที่ 1 ดังนี้

ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน — 30 พฤศจิกายน 2553 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2553 -31 มีนาคม 2554

การประชาคม รับรองการผลิต ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน — 15 ธันวาคม 2553 ภาคใต้

(ไม่รวม จ.ชุมพร) ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 — 15 เมษายน 2554

ออกใบรับรอง ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน — 31 ธันวาคม 2553 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 — 30 เมษายน 2554

ทำสัญญาประกันรายได้ กับ ธ.ก.ส. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 — 31 มกราคม 2554 ภาคใต้ (ไม่รวม จ.ชุมพร) ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2553 — 31 พฤษภาคม 2554

ระยะเวลาใช้สิทธิ ประกันรายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 - 15 มีนาคม 2554 ภาคใต้

(ไม่รวม จ.ชุมพร) ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2553 — 15 กรกฎาคม 2554

ประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิง ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 — 15 มีนาคม 2554 ภาคใต้

(ไม่รวม จ.ชุมพร) ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2553 — 15 กรกฎาคม 2554

มติ กขช. ครั้งที่ 10/2553 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 เห็นชอบกำหนดราคาประกัน และปริมาณรับประกันต่อครัวเรือนของโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี2553/54 รอบที่ 1 เท่ากับโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี2552/53 รอบที่ 1 และรอบที่ 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ต้นทุนการผลิต และราคาปัจจัยการผลิตไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา ดังนี้

ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้

                    -     ข้าวเปลือกหอมมะลิ     ตันละ 15,300 บาท    ไม่เกิน  14 ตัน / ครัวเรือน
                    -     ข้าวเปลือกหอมจังหวัด   ตันละ 14,300 บาท    ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน
                    -     ข้าวเปลือกเจ้าตันละ    ตันละ 10,000 บาท    ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    -     ข้าวเปลือกปทุมธานี1    ตันละ 11,000 บาท    ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                    -     ข้าวเปลือกเหนียว      ตันละ  9,500 บาท    ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน

1.2 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

คงเหลือเฉพาะการใช้สิทธิของเกษตรกรถึงสิ้นสุด 31 สค. 53* ยกเว้นภาคใต้ ที่กำลังดำเนินการ ดังนี้

1.1 ประชาคม 6 เม.ย. - 15 ส.ค.53

1.2 ออกหนังสือรับรอง 15 เม.ย.-30 ส.ค.53

1.3 การทำสัญญาประกันรายได้ 20 เมย.-30 สค.53

1.4 การใช้สิทธิของเกษตรกร ไม่เกินวันที่ 15 ธ.ค. 53* ทั้งนี้เกษตรกรสามารถเลือกวันใช้สิทธิได้นับตั้งแต่วันเก็บเกี่ยว และหากเกษตรกรต้องการเปลี่ยนแปลงวันใช้สิทธิ จะต้องแจ้ง ธ.ก.ส. ล่วงหน้าก่อนวันขอใช้สิทธิใหม่อย่างน้อย 3 วัน ทั้งนี้วันขอใช้สิทธิใหม่จะต้องไม่ย้อนหลังจากวันที่แจ้ง

หมายเหตุ : * มติ กขช. ครั้งที่ 9/2553 (10 มิ.ย. 53) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิของเกษตรกร โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบ2)

1.5 ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้

                              -   ข้าวเปลือกปทุมธานี 1     ตันละ 11,000 บาท    ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                              -   ข้าวเปลือกเจ้า          ตันละ 10,000 บาท    ไม่เกิน  25 ตัน / ครัวเรือน
                              -   ข้าวเปลือกเหนียว        ตันละ  9,500 บาท    ไม่เกิน  16 ตัน / ครัวเรือน

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านทุกตลาด เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูผลผลิตข้าวเปลือกในท้องตลาดเหลือน้อย ประกอบกับความต้องการของผู้ส่งออกที่เตรียมส่งมอบให้ลูกค้าข้าวนึ่งที่ปากีสถานที่ไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากประสพภัยธรรมชาติกลับมาซื้อไทย รวมทั้ง จีนที่ซื้อข้าวราคาต่ำจากเวียดนาม 0.6 ล้านตัน ได้กลับมาสั่งซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากเวียดนามไม่มีข้าวส่งมอบ ยกเว้น ข้าวนาปรังปี 2553 ที่เก็บเกี่ยวในช่วงนี้มีความชื้นสูงเนื่องจากกระทบฝนตกหนัก พ่อค้ากดราคาซื้อลงเล็กน้อย

การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 17 สิงหาคม 2553 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 4,978 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 5,431 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.34 (ที่มา: กรมการค้าภายใน)

1.3 ราคา

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,579 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,489 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,133 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,800 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,346 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.96

ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรังความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,039 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,040 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.02

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,130 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,683 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.52

ราคาส่งออก เอฟ.โอ. บี

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,017 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ (32,027 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,008 ดอลลาร์สหรัฐ (32,021 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.89 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 6 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 787 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,784 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 779 ดอลลาร์สหรัฐ (24,747 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.03 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 37 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 463 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,580 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 446 ดอลลาร์สหรัฐ (14,168 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.81 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 412 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,321 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐ (13,025 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.17 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 296 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 524 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,501 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 513 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,300 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.14 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 201 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.4913 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนเบื้องต้นว่าผลผลิตข้าวโลกปี 2553/54 ประจำเดือนสิงหาคม 2553 ว่าจะมี 459.167 ล้านตันข้าวสาร (687.50 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 442.613 ล้านตันข้าวสาร (662.30 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2552/53 ร้อยละ 3.74 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของประเทศผู้บริโภคและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น บังคลาเทศ บราซิล พม่า กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และ สหรัฐอเมริกา

2.2 การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2553/54 ณ เดือนสิงหาคม 2553 ว่าผลผลิต ปี 2552/53 จะมี 459.167 ล้านตันข้าวสาร(687.50 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.74 การใช้ในประเทศจะมี 456.616 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 4.13 การส่งออก/นำเข้าจะมี 31.325 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.24 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 97.517 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.69

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล พม่า จีน อุรุกวัย เวียดนาม และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อิยิปต์ และปากีสถาน

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ โกตดิวัวร์ เม็กซิโก อิหร่าน อิรัก จีน ฮ่องกง ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ โมแซมบิค เยเมน และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่

บังคลาเทศ บราซิล และฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะมี สต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต๊อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ

2.3 สถานการณ์การเพาะปลูกในปากีสถานภายหลังประสบภัยน้ำท่วม

จากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในประเทศปากีสถาน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,600 คน และทำลายพื้นที่การเพาะปลูกมากกว่า 1.6 ล้านเอเคอร์ (4 ล้านไร่) และน่าจะมีพื้นที่สูญเสียมากกว่านี้ เนื่องจากทิศทางของน้ำท่วมกำลังมุ่งไปสู่ทางตอนใต้ของประเทศ ส่งผลให้อุปทานผลผลิตข้าวสำหรับการส่งออกลดน้อยลง เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบประมาณ 200,000 เอเคอร์ หรือ 500,000 ไร่ ทำให้สูญเสียผลผลิตข้าวมากกว่า 200,000 ตันข้าวสาร หรืออาจสูงถึงร้อยละ 15 ของเป้าหมายการผลิต 6 ล้านตัน ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้สำหรับปีนี้

ทั้งนี้ มีพ่อค้าข้าวในปากีสถานกล่าวว่า ผลผลิตที่ลดลงจะส่งผลต่อปริมาณข้าวสำหรับการส่งออกลดลงด้วย ซึ่งในปี 2552/53 ปากีสถานมีสต็อกกันชนอยู่ที่ 6.7 ล้านตันข้าวสาร โดยมีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านตัน ตามลำดับ ในขณะที่จากรายงานอย่างไม่เป็นทางการของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีว่า ในปี 2552/53 ปากีสถานมีการส่งออกข้าวประมาณ 3.75 ล้านตัน การเก็บเกี่ยวข้าวที่ไม่ใช่สายพันธุ์บาสมาติเริ่มในปลายเดือนกันยายน และมีการเก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์ บาสมาติอีก 1 เดือนถัดมา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 16 — 22 สิงหาคม 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ