กษ. ผนึก วท. ดึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งภาคเกษตร

ข่าวทั่วไป Friday September 24, 2010 13:32 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทำข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หวังพัฒนาและยกระดับภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยให้มี คุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรไทย

นางสาวสุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรม ซึ่งถือได้ว่าทั้งสองกระทรวงได้ร่วมมือกันในเชิงนโยบาย เพื่อการวิจัย พัฒนาการเกษตรมาระยะหนึ่งแล้วในการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรกรรม และ เตรียมความพร้อม รองรับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปัจจุบันภาคเกษตรไทยได้มาถึงจุดที่ต้องมีการนำ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรก เนื่องจาก ประสิทธิภาพการผลิตของไทย ลดลง โดยปี 2553 สถาบันนานาชาติเพื่อการจัดการ (Institute for Management Development: IMD) จัดให้ภาคเกษตรของประเทศไทยมี ประสิทธิภาพ การผลิตอยู่อันดับที่ 53 จาก 57 ประเทศ โดยมีอันดับลดลงสองอันดับเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน หน้า ประการที่สอง ผลผลิตต่อพื้นที่ของสินค้าเกษตร หลายชนิดประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งอาจ มาจากหลายปัจจัย เช่น การขาดแคลนพันธุ์ดี การบริหารจัดการที่เหมาะสม เช่น การบริหารจัดการดินและ น้ำ เครื่องจักรกลเกษตร เทคโนโลยีด้านวัสดุ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวหรือ การใช้เทคโนโลยีไอที เป็นต้น

ประการที่สาม พื้นที่เพาะปลูกมีปริมาณจำกัด แต่ความต้องการใช้ผลผลิตทางการเกษตรทั้งในและ ต่างประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อการตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมและอุตสาหกรรม ใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ พลังงานชีวภาพ เป็นต้น ประการที่สี่ การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ทำให้มีความ จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้าไปเพื่อทดแทนแรงงานที่หายากและมีราคาแพงมากขึ้น ประการที่ห้า ผู้บริโภค มีความต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ดังนั้น ผู้ผลิตต้องสร้าง ความเชื่อมั่นในด้านความ ปลอดภัยของสินค้าที่ผลิตด้วย ต้องมีการ นำเทคโนโลยีตรวจวิเคราะห์ทดสอบมาใช้ ควบคุมคุณภาพของสินค้า รวมถึงการใช้ เทคโนโลยีในการตรวจสอบย้อนกลับ สุดท้าย ประการที่หก ภาวะโลกร้อนจะกระทบต่อภาคเกษตรค่อนข้างมากเนื่องจาก ผลผลิตทางการเกษตรขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมสูง รายงานของ IPCC คาดว่าเมื่ออุณภูมิสูงขึ้น 1-3 oC ผลผลิตทาง การเกษตรในเขตเอเชียจะลดลง ประมาณ 2.5-10% ภายในปี 2020 โดยอาจทำให้พืชไม่ออกดอกหรือออกล่าช้า มีการ ระบาดของโรคพืชและแมลง ใหม่ๆ ที่มากับ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การทำเกษตรกรรม ในศตวรรษที่ 21 จะมีการผสมผสาน ระหว่างศาสตร์แขนงต่างๆ มากขึ้นทั้งวิทยาศาสตร์เกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุศาสตร์ และนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้การทำการเกษตร มีความแม่นยำสูง หรือที่เรียกว่า “Precision Farming” การทำเกษตรรูปแบบนี้เป็นที่นิยมในประเทศสหรัฐอเมริกาและ ออสเตรเลีย และเริ่มแพร่หลายไปยังยุโรป ญี่ปุ่น และจีนมากขึ้นเพราะเป็น การทำ เกษตรที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูง รวมไปถึงการเพาะปลูกในระบบโรงเรือนเพื่อป้องกันความสูญเสียจากโรค แมลง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และลดข้อจำกัดของฤดูกาลเพาะปลูก

ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความร่วมมือกันทั้ง 2 กระทรวงใน ครั้งนี้ว่า สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล กุ้ง และไก่ ได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ภาคเกษตรจึงมีบทบาทในการสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ แม้จะไม่สูงเทียบเท่ากับภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นภาคที่เกี่ยวข้องกับประชากรจำนวนมาก ทั้งเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตและเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตร รวมทั้งประชากรผู้บริโภคสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความมั่นใจว่าแม้โลกจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติอาหาร แต่คนไทยก็ยังมีอาหารเพียงพอ

ในวันนี้ภาคเกษตรต้องเผชิญกับเรื่องประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลง ซึ่งมาจากสาเหตุหลายปัจจัย เช่น การขาดแคลน พันธุ์ดี ขาดการจัดการดินและน้ำ ตามที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้น เมื่อประกอบกับความเสื่อมโทรมของ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการทำการเกษตรอย่างเข้มข้น ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศ คู่แข่ง เช่น เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ที่สภาพทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์อยู่ ดังนั้น แม้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินการต่อไป ยังจำเป็นต้องอาศัยการวิจัย พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำมาสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากภาวะเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการ ผลิตภาคเกษตร ทั้งทางตรงและทางอ้อม กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งจากภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม โรคพืช และโรคสัตว์ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องถึงความมั่นคงอาหาร ในระดับประเทศ และในระดับโลกได้ เป็นเรื่องที่นานาชาติต่างตระหนัก ถึงสาเหตุของปัญหา ซึ่งภาคเกษตรก็มีส่วนในการทำให้โลกร้อน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น ทิศทางการพัฒนา ของภาคเกษตรจึงจำเป็นต้องปรับการผลิตให้เป็นแบบ Low Carbon เพื่อร่วมมือในการ ลดปัญหาโลกร้อน เช่น สนับสนุนในการผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งในแผนพลังงาน 15 ปี ได้กำหนดจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้เป็น ร้อยละ 20 ภายในปี 2565 ในจำนวนนี้ จะเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพประมาณร้อยละ 4 ดังนั้นแนวโน้มความต้องการมัน สำปะหลัง อ้อย และ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ มีศักยภาพในการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่ได้ไปถึง Second Generation Biofuel

อย่างไรก็ตามสินค้าเกษตร เป็นสินค้าที่เสียหายง่าย ไม่เหมือนกับสินค้าอุตสาหกรรมที่เก็บ ไว้ในคลังสินค้าได้ เป็นเวลานานโดยไม่เสียหาย แต่สำหรับสินค้าเกษตร การที่จะเก็บไว้เป็นปีโดย คงความสด รักษารสชาติ และคุณภาพไว้ เป็นเรื่องที่ยากและต้นทุนสูง ดังนั้นการจัดการพืชผล หลังการเก็บเกี่ยว เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่ การวางแผนช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต วิธีการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม การบรรจุภัณฑ์ที่ช่วย ยืดอายุ ผลผลิต บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เกษตรที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันได้

ในอนาคต อีก 20 ปี ข้างหน้า คาดว่า โครงสร้างประชากรในสังคมไทย จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้กำลัง แรงงานลดลง รวมทั้งการขยายตัวของสังคมเมือง จะทำให้แรงงานในภาคเกษตรลดลง ด้วย ดังนั้น ในการจัดทำ ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร ได้กำหนดให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการ ผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อสนองความต้องการของตลาด การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนการปรับระบบการผลิต การบริโภคที่เป็น Cool and Green ปลอดภัย ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยลดภาวะโลกร้อน การดำเนินการเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยการ ผลิตบนพื้นฐานองค์ความรู้ ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกลไกขับ เคลื่อนที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่ การเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ลดแรงจูงใจในการออกจากภาคเกษตร และสนับสนุนการเจริญเติบโตของภาคเกษตรและ อุตสาหกรรมเกษตรอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความร่วมมือกันทั้งสองกระทรวงในการบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมและการรับมือกับภาวะโลกร้อน รวมทั้งเสริมสร้าง และพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเทคนิคและวิชาการเพื่อ สร้างผลงานและวิทยาการใหม่ๆ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สู่การใช้ประโยชน์ ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน วิทยาศาสตร์ที่สำคัญและ/หรือจำเป็นสำหรับภาคเกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันใน ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ในการยกระดับคุณภาพ ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ