สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 14:56 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีประมาณ 1,786,486 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.52 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงตั้งแต่ต้นปี ผู้ผลิตจึงผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกับสต็อกสินค้าที่ลดลงในปีที่แล้ว และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.07 โดย เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.55 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.80 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.56 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้ามีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.30 เนื่องจากการชะลอตัวของภาคการก่อสร้าง

การใช้ในประเทศ

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ประมาณ 3,184,962 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปีฐานต่ำ (เนื่องจากในช่วงประมาณต้นปี 2552-ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ผู้ประกอบการยังคงมีปริมาณสินค้าคงคลังอยู่จึงทำให้มีคำสั่งซื้อลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตลดการผลิตลง) ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการใช้ในประเทศของเหล็กในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 กับ 2552 จึงทำให้ดูตัวเลขเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาก คือ เหล็กทรงแบน ร้อยละ 43.41 เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งปีนี้ขยายตัวสูงขึ้น (อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้เหล็กของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะมาจากการนำเข้า ) สำหรับเหล็กทรงยาวมีความต้องการใช้ในประเทศลดลงร้อยละ 3.12 เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงชะลอตัวอยู่

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 71,397 ล้านบาท และ 2,580,010 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60.54 และ 33.43 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 458.71 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 114.27 เนื่องจากประเทศจีนมีการส่งออกเหล็กทั้งประเภทเคลือบโครเมียมและเคลือบดีบุกซึ่งมีราคาถูกกว่าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ใช้วัตถุดิบที่มาจากจีนมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องใช้เหล็กจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน มีมูลค่า 12,212 ล้านบาท เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 11,358 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน มีมูลค่า 7,133 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและยูเครน

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 9,551 ล้านบาท และ 332,340 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.27 และ10.97 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 151.41 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 102.38 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 73.33

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 2,964 ล้านบาท เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีมูลค่า 2,382 ล้านบาท เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มีมูลค่า 986 ล้านบาท รายละเอียดตามตารางที่ 3

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.52 ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.00 เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60.54 และ 33.43 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 458.71 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 114.27 เนื่องจากประเทศจีนมีการส่งออกเหล็กทั้งประเภทเคลือบโครเมียมและเคลือบดีบุกซึ่งมีราคาถูกกว่าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ใช้วัตถุดิบที่มาจากจีนมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องใช้เหล็กจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.27 และ 10.97 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 151.41 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 102.38 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 73.33

บริษัท Deloitte Consulting ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศเห็นว่าราคาสินแร่เหล็กในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องจะลดลง เนื่องจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆพยายามที่จะต่อสู้ทำสงครามราคากับผู้ขายสินแร่เหล็กรายใหญ่ของโลก หรือที่เรียกว่า “Big 3” อันได้แก่ BHP Billiton , Rio Tinto และ Vale ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันผูกขาดสินแร่เหล็ก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กโลก เชื่อว่าผู้ประกอบการเหล็กในจีน และประเทศอื่นๆต่างพยายามเสาะหาแหล่งทรัพยากรแห่งใหม่ รวมถึงแอฟริกา ส่วนประเทศจีนได้ตำหนิ Big 3 และมองหาแหล่งสินแร่เหล็กจากที่อื่นๆในบราซิล และออสเตรเลีย ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ Big 3 ลดลง และราคาของสินแร่เหล็กที่เพิ่มขึ้นจะเดินทางเข้าสู่ขาลง

บริษัทร่วมทุนระหว่าง POSCO และ Krakatau Steel ได้เริ่มการก่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กครบวงจรแห่งใหม่ในเมือง Cilegon ที่ห่างจาก Jakarta ไปทางตะวันตก 100 กิโลเมตร โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิต3 ล้านตันในเฟสแรก ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม 2013 และจะลงทุนเพิ่มอีกเป็น 6 ล้านตันต่อปีในเฟสที่สอง มูลค่าการลงทุนของเฟสแรกมีมูลค่าประมาณ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนโครงการเดียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่เคยมีมา สัดส่วนการลงทุนของบริษัทร่วมทุนแห่งนี้จะถือหุ้นโดย POSCO ถือหุ้น 70% และ Krakatau Steel 30%

3.แนวโน้ม

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในไตรมาสที่ 4 ของ ปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2553 คาดการณ์ว่าเหล็กทรงยาว ทั้งการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะขยายตัวขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญมีสถานการณ์ที่ฟื้นตัวขึ้นสำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ในประเทศจะขยายตัวขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ