สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 15:43 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีค่าดัชนีผลผลิต 111.0 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีปริมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในช่วงคริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีน ประกอบกับในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมามีปริมาณการผลิตน้อย เป็นเพราะราคาวัตถุดิบสูงขึ้นโดยเฉพาะเศษกระดาษ ส่งผลให้สินค้าคงคลังลดลง ส่วนภาวะการผลิตกระดาษโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีค่าดัชนีผลผลิตเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษโดยรวมที่ลดลงด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากผู้จำหน่ายกระดาษและผู้ใช้กระดาษมีการนำเข้ามาบางส่วน เนื่องจากราคาต่ำกว่าในประเทศ จึงทำให้ผู้ผลิตชะลอการผลิตลง

หากเปรียบเทียบทั้งปี 2553 กับปี 2552 ค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวมเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยโดยเฉพาะแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้การใช้จ่ายทั้งการบริโภคและการลงทุนของทุกภาคส่วนกระเตื้องขึ้น ประกอบกับมีการเลือกตั้งซ่อมในหลายจังหวัดของประเทศไทย และในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 มีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ทำให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ขยายตัวตามไปด้วยจากปริมาณความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์และการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาเพื่อส่งเสริมการขาย ตลอดจนการส่งไปรษณียบัตร ทายผลการแข่งขันฟุตบอลโลก นอกจากนี้การปรับตัวที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากฐานข้อมูลของ ปี 2552 ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปี 2553

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่า 192.2 และ 372.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 8.2 และ 0.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้า เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4) เนื่องจากไตรมาสก่อนมีการขยายตัวในการนำเข้าเยื่อกระดาษและกระดาษ เพื่อรองรับเทศกาลต่างๆ ได้แก่ คริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีน ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีการนำเข้าที่ชะลอตัวลง

ภาวะการนำเข้าสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่า 47.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ของไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนกลับลดลงร้อยละ 10.5 สวนทางกับมูลค่าการนำเข้า(ตารางที่ 4) เป็นผลจากราคาสิ่งพิมพ์สูงขึ้นตามต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทก็ตาม

สำหรับภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ในภาพรวม ปี 2553 มีมูลค่า 748.8 1,413.8 และ 294.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.6 29.0 และ 54.5 ตามลำดับ (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 11.8 41.6 และ 8.3 ตามลำดับ(ตารางที่ 4) โดยสาเหตุที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าที่ถูกลง ทำให้มีการนำเข้าสินค้าในการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศและเพื่อส่งออกสูงขึ้น โดยแหล่งนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับแหล่งนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ ส่วนแหล่งนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่า 28.0 และ 358.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8และ 7.3 ตามลำดับ (ตารางที่ 5) หากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อน มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกร้อยละ 18.4 และ8.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 6) เป็นผลจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดที่ไม่ใช่ตลาดหลัก โดยมีการขยายตัวของการส่งออกเยื่อกระดาษไปยังประเทศบังคลาเทศ อัฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษมีการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง ได้แก่ ประเทศอิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ส่วนภาวะการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่า 842.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 113.0 (ตารางที่ 5) เนื่องจากยังคงมีมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทปลอดการปลอมแปลงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังฮ่องกงถึงร้อยละ 90 ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อน ลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น (ตารางที่ 6) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการส่งออกสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลงจะมีมูลค่าสูงกว่าสิ่งพิมพ์ทั่วไปหรือหนังสือ และมีน้ำหนักเบากว่า นอกจากนี้ การส่งออกสิ่งพิมพ์มีหลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทมีน้ำหนักและราคาแตกต่างกัน จึงทำให้ในบางไตรมาสมีมูลค่าและปริมาณเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือสวนทางกันได้ชะลอการนำเข้าลงเล็กน้อย แต่หากเทียบปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ ในปี 2553 กับปีก่อน เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก เป็นเพราะยังคงมีการส่งออกไปยังคู่ค้าเดิม คือ ประเทศฮ่องกง เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ร้อยละ 24.2 และ 42.2 ตามลำดับ รวมทั้งมีการขยายตัวในการส่งออกไปประเทศมาเลเซีย แม้จะมีมูลค่าและปริมาณส่งออกน้อย เมื่อเทียบกับประเทศฮ่องกง แต่มีการขยายตัวทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า ร้อยละ 31.7 และ 435.7 ตามลำดับ เช่นกัน (ตารางที่ 6)

3. นโยบายที่เกี่ยวข้อง

3.1 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการอ่าน และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่า จะมีผลในปี 2554 โดยจะให้การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่จ่ายไปเพื่อส่งเสริมการอ่าน แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน หลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน ซึ่งมาตรการภาษีดังกล่าวจะเป็นการจูงใจให้มีการซื้อหนังสือเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงขับเคลื่อนในภาคอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์

3.2 การลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ ระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับสมาคมการพิมพ์ไทย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน2553 ระยะเวลา 1 ปี เพื่อร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการพิมพ์ทั้งระบบให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

3.3 มติคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ในส่วนการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการที่ประกอบการอยู่เดิม ซึ่งรวมอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36 (1) และ (2) ในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์ หรือผลิตผลที่ใช้ในการส่งออก และการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเข้ามาเพื่อส่งกลับออกไป

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในช่วงเทศกาลปลายปี ประกอบกับมีสต๊อกลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนภาวะการผลิตอุตสาหกรรมกระดาษโดยรวมกลับลดลงสวนทางกับการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากผู้ผลิตชะลอการผลิตลง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราคากระดาษในประเทศสูงกว่าต่างประเทศ และผู้จำหน่ายกระดาษและผู้ใช้กระดาษมีการนำเข้ามาบางส่วนเนื่องจากราคาที่ต่ำกว่า สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสนี้ลดลง เนื่องจากไตรมาสก่อนมีการขยายตัวในการนำเข้าเพื่อรองรับการเติบโตในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ไปแล้ว ส่งผลให้ ไตรมาสนี้มีการนำเข้าที่ชะลอตัวลง ในส่วนการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาสินค้าได้ปรับตัวสูงขึ้น และสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดที่ไม่ใช่ตลาดหลัก เช่น บังคลาเทศ อัฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ประกอบกับยังคงมีการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทปลอดการปลอมแปลงอย่างต่อเนื่อง

ภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออกอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ โดยรวม ในปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยโดยเฉพาะแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้มีการใช้จ่ายทั้งการบริโภคและการลงทุนกระเตื้องขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมีการเลือกตั้งซ่อมในหลายจังหวัดของประเทศไทย และการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 นอกจากนี้การปรับตัวที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากฐานข้อมูลของ ปี 2552 ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า ปี 2553

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้า คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกภายในประเทศจากการจัดทำรายงานประจำปีของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยกระตุ้นให้มีการใช้เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ