สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2011 13:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีปริมาณการผลิต 2.31 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 7.23 และร้อยละ 6.85ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาต้นทุนการผลิต คือราคาวัตถุดิบไม้ยางพารา ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากสภาวะราคายางที่เพิ่มสูง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางลดการโค่นต้นยางนอกจากนี้ เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น และชะลอการลงทุนและการผลิตออกไป

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีปริมาณการจำหน่าย 1.08 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.00 และ 17.39 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน ประกอบกับการได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ซึ่งถึงแม้จะหมดไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 แต่ทำให้ที่พักอาศัยขยายตัว ส่งผลให้อุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขยายตัวตามไปด้วย นอกจากนี้ เป็นช่วงฤดูกาลการขายปลายปี ที่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งที่อยู่อาศัยและเครื่องเรือนเป็นจำนวนมาก

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 707.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.14 และ 12.58 ตามลำดับ ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรและจีน และตลาดรอง เช่น ประเทศแถบเอเซียใต้และแถบตะวันออกกลาง ขยายตัวได้ดี

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 277.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 39ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.68 และ 6.39 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และ รูปแกะสลักไม้ ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 63.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 9ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 0.35 และ 4.40 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ กรอบรูปไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์

3) กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้ วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ โดยไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 367.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 52 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 1.13 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.63 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ดและไม้อัด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้ แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซียและเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีจำนวน 147.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.06 และ 21.73 ตามลำดับ การนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุงซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาวและสหรัฐอเมริกา สำหรับไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์และนิวซีแลนด์ และในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซียและเมียนมาร์

3. สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิต คือวัตถุดิบไม้ยางพารา ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น และชะลอการลงทุนและการผลิตออกไป

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการสูงและต่อเนื่อง ประกอบกับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลก่อนหน้านี้ ทำให้ภาคที่อยู่อาศัยขยายตัว ส่งผลให้ความต้องการไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ เป็นช่วงฤดูกาลการขายปลายปี

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศเริ่มขยายตัว ซึ่งรวมถึงที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคมสาธารณะอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่ตลอดจนสถานการณ์หลังอุทกภัย จะส่งผลทำให้อุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังหันมาเพิ่มการทำการตลาดภายในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดส่งออก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่ยังปรับตัวสูงขึ้น ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และจีนและตลาดรอง ได้แก่ ประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน ประเทศแถบเอเซียใต้และตะวันออกกลาง ขยายตัวได้ดี

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวในระดับทรงตัว จากปัจจัยเสี่ยงของความผันผวนของค่าเงินบาท และราคาน้ำมัน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกายังอยู่ในภาวะซบเซา อย่างไรก็ตาม ตลาดรองของไทย เช่นประเทศแถบเอเซียใต้ และแถบตะวันออกกลาง มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะอินเดีย ที่ภาคก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวสูง

ดังนั้น ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง การบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสทั่วโลก และผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้งานในลักษณะเอนกประสงค์ มากกว่าการคำนึงถึงราคา นอกจากนี้ ควรศึกษาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงการพัฒนาการออกแบบและกระบวนการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังเป็นการลดการพึ่งพาการแข่งขันด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียวอีกด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ