สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2012 15:17 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2554 มีประมาณ 7,031,505 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 6.04 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการชะลอตัวลงของภาคการก่อสร้าง ประกอบกับปริมาณสต๊อกที่เหลือค้างจากการเร่งผลิตในปีก่อน นอกจากนี้เป็นผลมาจากการนำเข้าเหล็กทั้งในกลุ่มของเหล็กเส้นและเหล็กแผ่นจากประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเหล็กดังกล่าวจะเป็นเหล็กที่ผู้นำเข้าใช้เทคนิคในการ

หลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าโดยการเติมธาตุเคมีบางธาตุ เช่น ธาตุโบรอน เข้าไปในเนื้อเหล็กเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้คุณสมบัติของเหล็กไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักแต่พิกัดภาษีจะเปลี่ยนไปโดยผู้นำเข้าจะสำแดงพิกัดศุลกากรว่าเป็นเหล็กอัลลอยด์ซึ่งมีภาษีเป็น 0 จึงทำให้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้การผลิตเหล็กในประเทศปรับตัวลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 13.61 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 11.06 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 7.65

ที่มา : สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย หมายเหตุ

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในปี 2554 ประมาณ 12,597,555 เมตริกตัน ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงแบน ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.17 เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มีความต้องการใช้ที่ลดลง สำหรับเหล็กทรงยาวมีปริมาณการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.33 เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงทรงตัวอยู่

การนำเข้า-การส่งออกการนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2554 มีจำนวนประมาณ 303,050 ล้านบาท และ 10,272,393 เมตริกตัน โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.22 แต่ปริมาณการนำเข้ากลับลดลง ร้อยละ 3.14 โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นและรัสเซีย ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 80.00 ท่อเหล็กมีตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 53.34 และเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.80 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งแบน ลดลง ร้อยละ 16.47 ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 13.27 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 7.21

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 45,231 ล้านบาท รองลงมาคือ เหล็กแท่งแบน มีมูลค่า 40,310 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน มีมูลค่า 29,499 ล้านบาท รายละเอียดตามตารางที่ 2

หมายเหตุ (1) ข้อมูลการใช้ในประเทศจะเป็นปริมาณการใช้ปรากฎ (Apparent Steel Use )ซึ่งรวมสต๊อกไว้ด้วย

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2554 มีจำนวนประมาณ 40,180 ล้านบาท และ 1,246,424 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 12.23 และ 19.85 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งแบน ลดลง ร้อยละ 85.71 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า ลดลง ร้อยละ 82.61 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 77.88 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 123.01 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 75.86 และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.43

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีมูลค่า 10,421 ล้านบาท ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 8,673 ล้านบาท และเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มีมูลค่า 5,291 ล้านบาท

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 6.04 เนื่องจากการชะลอตัวลงของภาคการก่อสร้าง ประกอบกับปริมาณสต๊อกที่เหลือค้างจากการเร่งผลิตในปีก่อน นอกจากนี้เป็นผลมาจากการนำเข้าเหล็กชนิดที่เติมธาตุโบรอนทั้งในกลุ่มของเหล็กเส้นและเหล็กแผ่นจากประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น สำหรับความต้องการใช้ในประเทศ ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงแบน ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.17 เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มีความต้องการใช้ที่ลดลง สำหรับเหล็กทรงยาวมีปริมาณการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.33 เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงทรงตัวอยู่ สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2554 มีจำนวนประมาณ 303,050 ล้านบาท และ 10,272,393 เมตริกตัน โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.22 แต่ปริมาณการนำเข้ากลับลดลง ร้อยละ 3.14 โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นและรัสเซีย มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2554 มีจำนวนประมาณ 40,180 ล้านบาท และ 1,246,424 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 12.23 และ 19.85 ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลก พบว่าจากการที่ราคาวัตถุดิบ เช่น เศษเหล็กที่ปรับลดลงทำให้แนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์เหล็กปรับลดลงด้วย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจของหลายประเทศของโลก เช่น ประเทศในแถบยุโรป จีน ที่ยังคงชะลอตัวอยู่ทำให้ความต้องการเหล็กของโลกลดลง

3.แนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในปี 2555 คาดว่า ในส่วนของกลุ่มเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในภาคการก่อสร้างจะขยายตัวขึ้นส่วนหนึ่งเพื่อเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบ้านเรือนที่เสียหายจากภาวะอุทกภัยในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับสต๊อกที่ลดลงในช่วงปลายปี 2554 สำหรับในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะลดลงเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมหลายนิคมซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กลดลงด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ