สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 (มกราคม — มีนาคม 2556)(อุตสาหกรรมเซรามิก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 14:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์เซรามิก ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ เติบโตเพิ่มขึ้น จากตลาดในประเทศที่เป็นช่วงฤดูกาลขายและการขยายตัวของตลาดส่งออก

การผลิต

การผลิตเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 43.14 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.70 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.44 และ 6.92 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 1) ซึ่งการผลิตเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศที่เป็นช่วง ฤดูกาลขาย และการขยายตัวของตลาดส่งออก สำหรับการผลิตเซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในภาพรวมไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลดเหมือนปีก่อน โดยการผลิต กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ลดลง ร้อยละ 1.84 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ จะเติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.66 แต่เป็นการเติบโตจากการเปรียบเทียบฐานตัวเลขของปีก่อนที่ไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลัง เนื่องจากยังมีโรงงานได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ในปีนี้เติบโตสูงกว่า

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 48.29 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.17 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.82 และ 21.88 ตามลำดับ ซึ่งการจำหน่ายเซรามิกเติบโตตามตลาด ในช่วงฤดูกาลขาย อย่างไรก็ตาม ยังมีการแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนามที่เพิ่มขึ้น สำหรับการจำหน่ายเซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ลดลง ร้อยละ 4.13 ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.36 ซึ่งเป็นไปในทิศทาง เดียวกับการผลิตเซรามิก

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกจะส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย เยอรมนี และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 182.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.40 โดยทุกผลิตภัณฑ์มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ยกเว้น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และลูกถ้วยไฟฟ้า สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.08 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง เพิ่มขึ้นในตลาดหลักทั้ง อาเซียน และสหรัฐอเมริกา เครื่องสุขภัณฑ์ เพิ่มขึ้นในตลาดหลักทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย และเยอรมนี โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 119.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 5.26 (ดังตารางที่ 4) ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าในหมวดผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น โดยเฉพาะสินค้ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่การนำเข้าลดลงและเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.15 ซึ่งการนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉพาะผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

อุตสาหกรรมเซรามิกได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ทั้งต้นทุนพลังงานที่ก๊าซ LPG ภาคอุตสาหกรรมมีราคาสูงถึง 30.13 บาทต่อกิโลกรัม การปรับค่าแรงงานเป็น 300 บาทส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเซรามิกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทที่มีอย่างต่อเนื่องทำให้ ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเซรามิกลดลง อย่างไรก็ตาม หากผลิตภัณฑ์เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ และผลิตภัณฑ์กระเบื้องเซรามิก มีผลบังคับให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานบังคับ (ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)จะช่วยลดผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าที่มีราคาถูก คุณภาพต่ำ และไม่ได้มาตรฐานที่จะเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 เติบโตเพิ่มขึ้นตามตลาดในช่วงฤดูกาลขาย สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 ในภาพรวมเติบโตเพิ่มขึ้น เฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสุขภัณฑ์ และกระเบื้องปูพื้น บุผนัง เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมี ผลิตภัณฑ์อื่นที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1ปี 2556 ลดลงจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2556 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างลดลงนอกจากนี้ ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้า การขาดแคลนช่างฝีมือในการปูพื้น และการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการซื้อรถยนต์คันแรก โดยชะลอการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านออกไปอาจส่งผลให้การผลิตและจำหน่ายเซรามิกไม่สามารถขยายตัวได้มาก สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2556 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกยังไม่สามารถขยายตัวในอัตราที่สูง ประกอบกับภาระต้นทุนทั้งพลังงาน แรงงาน และการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลให้ขีดความสามารถในการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกลดลง ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2556 มีแนวโน้มลดลงจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น โดยเฉพาะกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดในประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ