อุตฯ สร้างโอกาสจากวิกฤตบาทแข็งเร่งส่งเสริมมาตรการเพิ่มขีดการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 4, 2013 15:11 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ชี้ค่าเงินบาทแข็งกระทบภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย แต่ยังมีผลเชิงบวกด้านการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรมีราคาถูกลง ถือเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะให้การสนับสนุนนโยบายเพื่อใช้โอกาสค่าเงินบาทแข็งค่าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตไทย

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับผลกระทบค่าเงินบาทต่อการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลา 3 เดือนแรกพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวร้อยละ 7.04 โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมคิดเป็น 43,091 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 7.04 หรือคิดเป็นมูลค่าเงินบาท เท่ากับ 1,284,112 ล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 3.14 อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในมูลค่าเงินบาทที่ลดลงนั้นแสดงถึงแนวโน้มของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาโดยตลอดต้นปี 2556 ผลดังกล่าวทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกภาคอุตสาหกรรมไทยลดลงกว่าร้อยละ 4 หรือกว่า 55,156 ล้านบาท และหากค่าเงินบาทยังคงอยู่ที่ 29 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคอุตสาหกรรม (GDP) ลดลงกว่า 52,672 ล้านบาททั้งปี เนื่องจากราคาสินค้าที่ส่งออกสูงขึ้นในรูปเงินสกุลต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียอำนาจในการแข่งขันในระยะสั้น โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่ง อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน หรือ เกาหลีใต้ ส่งผลต่อการสูญเสียตลาดบางส่วนไปในอนาคตและในหลายสินค้าที่ สศอ. สอบถามผู้ส่งออกโดยเฉพาะส่งออกในตลาดญี่ปุ่นที่ค่าเงินเยนอ่อนลงกว่า ร้อยละ 16 และเมื่อคิดย้อนกลับที่ค่าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐแข็งค่ากว่า ร้อยละ 3 นั้นทำให้ผู้ส่งออกไทยหลายรายจะถูกลูกค้าในตลาดญี่ปุ่นขอต่อรองลดราคาลงมา หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมแล้วจะพบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ มีรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงกว่า 9,670 ล้านบาท ยานยนต์ลดลง 5,500 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง 6,780 ล้านบาท และอาหารลดลง 5,756 ล้านบาท(โดยเทียบจากอัตราแลกเปลี่ยนของปี 2555)

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทได้สร้างโอกาสต่อภาคอุตสาหกรรมหลายด้านด้วยกัน เช่น การนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรที่มีราคาถูกลง ถือเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อยกระดับ

เทคโนโลยีในการผลิต เพิ่มผลิตภาพการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังเป็นการรองรับเพื่อการเปิดโอกาสทางการค้าและการแข่งขันใน AEC ซึ่งในช่วงนี้ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้ราคาสินค้าทุนและเครื่องจักรนำเข้ามีต้นทุนถูกลงมากโดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นดีอย่างประเทศญี่ปุ่น เมื่อผนวกกับค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ทำให้ราคาสินค้าทุนและเครื่องจักรถูกลงประมาณร้อยละ 20 ซึ่งผู้ประกอบการจะมีความได้เปรียบด้านต้นทุน นอกจากนี้ ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่านี้ เป็นโอกาสดีที่นักลงทุนไทยสามารถไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอนโยบายเพื่อใช้โอกาสค่าเงินบาทแข็งค่าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ดังนี้

(1) สนับสนุนให้มีการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรโดยการส่งเสริมการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยสนับสนุนด้านสินเชื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

(2) สนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ โดยสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการลงทุนคนไทยในต่างประเทศ อาทิ การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีกำไรจากการลงทุนในต่างประเทศ เมื่อนำเงินกลับสู่ประเทศ

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอมาตรการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีความพร้อมและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการเผชิญปัญหาความผันผวนค่าเงินบาท ดังนี้

มาตรการระยะสั้น

(1) ลดความเสี่ยงและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนโดยการจัดอบรมให้ความรู้ การป้องกันความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงินต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs

(2) ส่งเสริมให้มีการขยายตลาดสินค้าทั้งตลาดในประเทศ ตลาดชายแดน และตลาดประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยตลาดส่งออกหลักเดิมที่มีการส่งออกลดลงจากการแข็งค่าของเงินบาท

(3) สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน โดยมีโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย โดยเน้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมครอบครัวและหัตถกรรมส่งออกและได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน วงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รายละ 50,000 บาท

(4) ผ่อนผันให้สามารถใช้สกุลเงินดอลล่าร์ซื้อขายระหว่างของ Supply Chain ในประเทศ ทั้งนี้จะต้องแก้ไขกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น VAT ภาษี หัก ณ ที่จ่าย

มาตรการระยะกลางและระยะยาว

(1) การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และระบบบริหารให้มีประสิทธผล โดยการให้ความรู้ SMEs โดยเน้นการปฏิบัติให้เกิดผล เพื่อเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุน อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

(2) เพิ่มขีดความสามารถทางนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยจัดผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการวินิจฉัยธุรกิจ และการเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงการผลิต โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพสินค้า การยกระดับมาตรฐาน และการสร้างมูลค่าจากการออกแบบ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ