สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนสิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 18, 2013 14:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนกรกฎาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 174.93 หดตัวร้อยละ 4.5 สาเหตุจากการส่งออกที่ลดลงโดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม หดตัวหรือลดลงร้อยละ 1.17 ทั้งนี้การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เครื่องประดับเพชรพลอย

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนกรกฎาคม 2556 อยู่ที่ระดับ 174.93 หดตัวร้อยละ 4.5 เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นับจากเดือนเมษายน โดยสาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกที่ลดลง อุตสาหกรรมสำคัญที่การผลิตลดลง ได้แก่ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เครื่องประดับเพชรพลอย ทั้งนี้ MPI ในช่วง 7 เดือนแรก ปี 2556 หดตัวร้อยละ 1.5

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต2 เดือน กรกฎาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 64.56 จากร้อยละ 64.94 ใน เดือนมิถุนายน 2556 และร้อยละ 67.9 ในเดือนกรกฎาคม 2555

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

หมายเหตุ

1 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

2อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2556 หดตัวหรือลดลงร้อยละ 1.17 ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งหดตัวร้อยละ 0.47

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(กรกฎาคม 2556)

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม 2556 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.1 สินค้าสำคัญ เช่น กุ้ง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 51.2 เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ส่งผลให้ต้องพักบ่อเพื่อกักกันโรค ซึ่งทำให้มีวัตถุดิบป้อนสู่โรงงานลดลง

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอนและผ้าลูกไม้ ลดลงร้อยละ 2.1 8.4 3.5 และ 15.9 ตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทอลดลง ร้อยละ 2.2 และ 0.1 ตามลำดับ จากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักทั้งอาเซียนและสหภาพยุโรปลดลง

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลง ร้อยละ 6.30 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตลดลง ร้อยละ 11.89 แต่เหล็กทรงยาวมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.16 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB)โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2556 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้น และเหล็กแท่งเล็ก Billet สำหรับเหล็กแผ่นรีดร้อนมีดัชนีราคาที่ทรงตัว แต่เหล็กชนิดที่มีดัชนีราคาลดลง คือ เหล็กแท่งแบน และเหล็กแผ่นรีดเย็น เนื่องจากสภาวะตลาดเหล็กโลกยังคงชะลอตัวอยู่ประกอบกับปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงไม่ได้แก้ไข ทำให้คาดว่าการชะลอตัวของตลาดเหล็กมีแนวโน้มว่าจะนาน ซึ่งส่งผลให้ราคาเหล็กบางชนิดอาจฟื้นตัวยาก

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน จำนวน 201,481 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีการผลิต 215,331 คัน ร้อยละ 6.43 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ร้อยละ 7.20 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน สำหรับการส่งออก มีจำนวน จำนวน 82,710 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีการส่งออก 96,167 คัน ร้อยละ 13.99 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลางยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์การผลิต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 5.9 ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากผู้บริโภคมีการใช้เงินล่วงหน้าไปแล้วกับโครงการรถคันแรกและการระมัดระวังการใช้จ่ายจากสัญญาณเชิงลบของสถานการณ์เศรษฐกิจรวมถึงตลาดส่งออกชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม สายไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการที่ภาครัฐมีการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ