ดัชนีฯ MPI ส.ค. 56 หดตัว-3.12% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63.45%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 27, 2013 15:07 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนสิงหาคม หดตัวลดลงร้อยละ 3.12 สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการผลิตรถยนต์กลับสู่ภาวะปกติ
หลังหมดการส่งมอบในโครงการรถคันแรก สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวก ได้แก่ ปิโตรเลียม,HDD,เสื้อผ้าสำเร็จรูป,น้ำตาล และเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น ด้านอัตราการใช้กำลัง
การผลิตอยู่ที่ 63.45%

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) โดยรวม 8 เดือนแรกของปี 2556 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 1.78 โดยในเดือนสิงหาคม ลดลงร้อยละ 3.12 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 8 เดือนแรก ของปี 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 65.29 สำหรับด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 8 เดือนแรกมีการขยายตัวร้อยละ 3.4

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2556 ของอุตสาหกรรมที่สำคัญ มีดังนี้

อุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ หดตัวลงร้อยละ 11.85 เนื่องจากปีนี้ผู้ผลิตได้ผลิตและส่งมอบรถยนต์ในนโยบายรถยนต์คันแรกไปเกือบหมดแล้ว ทำให้ยอดการผลิตและจำหน่ายลดลงกลับเข้าสู่ระดับปกติ

อุตสาหกรรมแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 33.39 เป็นการลดลงในสินค้ากุ้งแช่แข็ง เนื่องจากปัญหาโรคระบาด(EMS) สำหรับทูน่ากระป๋อง ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อจากราคาปลาที่ผันผวนมาก ปลาซาร์ดีนกระป๋อง จากตลาดในประเทศที่เริ่มอิ่มตัวและตลาดส่งออกก็หดตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิต HARD DISK DRIVE มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 2.12 เนื่องจากปีก่อนผู้ประกอบการรอดูสถานการณ์น้ำ จะท่วมหรือไม่จึงไม่กล้าผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงปีการผลิตใหม่มีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานกับระบบ Cloud เพื่อรองรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้น ส่วนการจำหน่ายอยู่ในระดับทรงตัว

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.46 จากการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ตลาดในประเทศยังมีความต้องการอยู่

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.94 จากเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นรีดร้อน จากผลกระทบของเหล็กนำเข้าราคาถูกในช่วงที่ผ่านมาทำให้ ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงกว่าได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว ส่งผลให้การจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.04

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.61 เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดหลักคือ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลัก มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น และคำสั่งซื้อภายในประเทศก็เพิ่มขึ้น จึงทำให้ยอดการจำหน่ายในปีนี้สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต

Index                                                        2555                                                                  2556
                                    ก.ค.      ส.ค.      ก.ย.      ต.ค.      พ.ย.      ธ.ค.      ม.ค.      ก.พ.      มี.ค.     เม.ย.      พ.ค.      มิ.ย.      ก.ค.      ส.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม                 183.24    178.91    177.88    178.47    192.63    179.73    180.63    174.17    199.55    163.01    179.27    180.95    174.27    173.33
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) %              -2      -2.4      -0.6       0.3       7.9      -6.7       0.5      -3.6      14.6     -18.3        10       0.9      -3.7      -0.5
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) %            -5.7     -11.3     -15.8      35.9      81.3      22.7      10.1      -1.2       0.7      -3.9      -7.5      -3.2      -4.9      -3.1
อัตราการใช้ กำลังการผลิต %             67.89     66.48      65.51    67.83     68.37     63.64     67.15     63.43     71.56      60.4     66.87     64.94     64.54     63.45
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ