รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 18, 2013 16:51 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกันยายน 2556
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2556 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ร้อยละ 0.7 และลดลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เบียร์ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
ในบ้านเรือน
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 63.5 ในเดือนสิงหาคม 2556

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนตุลาคม 2556

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนตุลาคม 2556 เทียบกับเดือนก่อนคาดว่าการผลิตทั้งเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาวจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย โดยในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็นการผลิตอาจจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลทางบวกจากการใช้มาตรการ AD และมาตรการ Safeguard สำหรับเหล็กเส้นที่ใช้ในธุรกิจก่อสร้างจะขยายตัวขึ้นตามภาคการก่อสร้างที่ยังคงมีความต้องการอยู่
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนตุลาคม 2556 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดหลักบางตลาดเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น
ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 173.6 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (174.4) ร้อยละ 0.5 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 (180.0) ร้อยละ 3.6

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ น้ำตาล เสื้อผ้าสำเร็จรูป โทรทัศน์สี เครื่องประดับเพชรพลอย เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 ได้แก่ ยานยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป Hard Disk Drive โทรทัศน์สี เครื่องประดับ เพชรพลอย เป็นต้น

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 1.9 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 64.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 64.1) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555(ร้อยละ 66.6)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี น้ำตาล เส้นใยสิ่งทอ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 ได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี เส้นใยสิ่งทอ เม็ดพลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง อาหารสัตว์สำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม Hard Disk Drive โทรทัศน์สี เป็นต้น

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ส.ค. 56 = 173.9

ก.ย. 56 = 172.7

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • เบียร์
  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • น้ำตาล
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ส.ค. 56 = 63.5

ก.ย. 56 = 64.0

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ได้แก่

  • ยานยนต์
  • ผลิตภัณฑ์ยาสูบ
  • โทรทัศน์สี

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน 2556 มีค่า 172.7 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 (173.9) ร้อยละ 0.7 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกันยายน 2555 (177.9) ร้อยละ 2.9

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2556 ได้แก่ เบียร์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำตาล เม็ดพลาสติก เยื่อกระดาษ กระดาษ และ กระดาษแข็ง เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เบียร์ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก เดือนสิงหาคม 2556 (ร้อยละ 63.5) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกันยายน 2555 (ร้อยละ65.5)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม 2556 ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ โทรทัศน์สี อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง อาหารสัตว์สำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐานผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2556

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2556 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 408 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวน ที่น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 425 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 4.0 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 29,918 ล้านบาท ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีการลงทุน 32,980 ล้านบาท ร้อยละ 9.28 และมีการจ้างงานจำนวน 8,721 คน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 14,194 คน ร้อยละ 38.56

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 379 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 7.65 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการลงทุน 12,806 ล้านบาท ร้อยละ 133.62 แต่มีการจ้างงานรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนกันยายน 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,725 คน ร้อยละ 0.05

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2556 คือ อุตสาหกรรม ขุด ตัก ทรายและดินที่มีไว้เพื่อการจำหน่ายสำหรับใช้ในการก่อสร้างจำนวน 30 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ พื้น เสา และท่อคอนกรีต จำนวน 28 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2556 คือ อุตสาหกรรมผลิตส่งและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 11,752.72 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ภาชนะพลาสติกขึ้นรูป ฉีดพลาสติก จำนวนเงินทุน 2,670.41 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2556 คือ อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ จำนวนคนงาน 1,344 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุปกรณ์ จำนวนคนงาน 581 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2556 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 57 ราย น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 93 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.71 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 672.04 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,662.66 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 1,949 คน น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,530 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 70 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 18.57 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกันยายน 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,043.25 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างน้อยกว่าเดือนกันยายน 2555 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,220 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกันยายน 2556 คือ อุตสาหกรรมขุด ตัก ทรายและดินที่มีไว้เพื่อการจำหน่ายสำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 9 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ พื้น เสา และท่อ
คอนกรีต จำนวน 5 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกันยายน 2556 คือ อุตสาหกรรมทำซีเมนต์ ปูนขาว ปูนปลาสเตอร์ เงินทุน 247 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพร จำนวน 69.32 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกันยายน 2556 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม จำนวนคนงาน 421 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์ยาง จำนวนคนงาน 258 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม — กันยายน 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 1,431 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,528 โครงการ ร้อยละ 6.35 แต่มีเงินลงทุน 737,800 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 732,000 ล้านบาท คิด เป็นร้อยละ 0.79

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม — กันยายน 2556
          การร่วมทุน                         จำนวน(โครงการ)        มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%                  522                   235,200
          2.โครงการต่างชาติ 100%                 534                   162,800
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ           375                   339,800
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — กันยายน 2556 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 329,100 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 200,500 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเป็นผลจากคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามฤดูกาลการสั่งสินค้ารองรับเทศกาล ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวลดลง จากปัญหาน้ำท่วม และราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน2556 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 13.7 และ 0.1 ตามลำดับ แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 20.2 และ 7.0 เนื่องจากชะลอตัวตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และหากพิจารณาสินค้าสำคัญโดยเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น กุ้ง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 33.9 เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยง ทำให้มีวัตถุดิบป้อนสู่โรงงานลดลง

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 13.9 และ 2.5 ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 184.9 เป็นผลจากโรงงานหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรในเดือนก่อน ส่วนอาหารไก่ การผลิตชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.9 เนื่องจากความต้องการใช้อาหารไก่ลดลงจากการที่บริษัท สหฟาร์ม ได้หยุดโรงงานแปรรูปไก่ และชะลอการเลี้ยงไก่ เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกันยายน 2556 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 17.2 และ 4.4 ตามลำดับ

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 และ 1.9 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นในหลายสินค้า เช่น สับปะรดกระป๋อง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลสั่งสินค้ารองรับเทศกาล ประกอบกับข่าวการรักษาระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะสั้น ส่งผลทางจิตวิทยาด้านบวกไปยังเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงซบเซา ทำให้แนวโน้มของคำสั่งซื้อปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก แม้ว่าค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลง จากปัญหาน้ำท่วมในภาคตะวันออก และราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
"การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะขยายตัวตามความต้องการใช้ภายในประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย แม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ก็ตาม..."

1. การผลิต

  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเดือนกันยายน 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน การผลิตส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน และสิ่งทออื่น ๆ (ผ้าลูกไม้และยางยืด) ร้อยละ 0.3 0.2 และ 3.1 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลงค่อนข้างมากจากอินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย บังคลาเทศ และกัมพูชา แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เดียวกัน ร้อยละ 6.0 0.4 และ 8.3 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อในตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักลดลงตามฤดูกาล ร้อยละ 10.4 และ 18.9 ตามลำดับ ส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลง ร้อยละ 6.5 แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4 ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อที่กระเตื้องขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี

2. การจำหน่าย

  • ปริมาณการจำหน่ายของผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอในประเทศ ส่วนใหญ่ลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการผลิต ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การจำหน่ายในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักลดลง ร้อยละ 14.5 และ 16.5 และจากผ้าทอลดลง ร้อยละ 4.6 และ 10.0 ตามลำดับ จากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าแฟชั่นชะลอตัว
  • มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมลดลงร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ลดลง ร้อยละ 6.5 และ 16.0 ตามลำดับ แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.4 จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 2.8 จากมูลค่าในตลาดคู่ค้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดลง ร้อยละ 13.1 23.1 และ 15.1 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

  • การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่าจะขยายตัวตามความต้องการใช้ภายในประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ ผ้าผืน สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย แม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ประกอบกับกำลังซื้อผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นอาจจะชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการผลิตของไทยอาจขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร สำหรับภาคการส่งออก คาดว่า จะชะลอตัวเช่นเดียวกัน
3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

บริษัท Nippon Steel & Sumitomo Metal Corp.ของประเทศญี่ปุ่นประกาศสร้างเตาถลุงเหล็กต้นแบบสำหรับการถลุงเหล็กโดยใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเหล็กใหม่เพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเตาถลุงใหม่นี้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ของ Nippon Steel ที่เมือง Chiba และจะผลิตได้ 10,000 ตันต่อวัน มูลค่าการก่อสร้างอยู่ที่ 15,000 ล้านเยน และจะเสร็จสิ้นการก่อสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ.2558

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกันยายน 2556 ขยายตัวขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 138.93 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.49 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงแบน พบว่าการผลิตลดลง ร้อยละ 1.49 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 19.14 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 12.65 แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.77 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้มาตรการ AD เหล็กแผ่นรีดร้อน 14 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการใช้มาตรการดังกล่าวแล้วผู้นำเข้ายังคงหลบเลี่ยงด้วยการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีหน้ากว้างเกิน 1,550 มม. มาตัดตามความยาว(Slit) ซึ่งเหล็กประเภทดังกล่าวไม่ถูกดำเนินการใช้มาตรการดังกล่าว สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.96 โดยเหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.70 รองลงมาคือ เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.65 เนื่องจากความต้องการภายในประเทศที่ยังคงมีอยู่ นอกจากนั้นยังเป็นผลจากการที่ผู้นำเข้าเกรงผลกระทบจากการผู้ผลิตในประเทศยื่นเรื่องให้กระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการ AD ในสินค้าเหล็กลวด ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะไต่สวนจึงเป็นผลทางจิตวิทยาให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อและใช้เหล็กในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.98 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.63 และเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.52

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกันยายน 2556 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 110.93 เป็น 116.74 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.24 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 112.14 เป็น 116.82 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.17 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 119.78 เป็น 120.21 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.36 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 121.02 เป็น 112.82 ลดลง ร้อยละ 6.78 และเหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 120.47 เป็น 116.70 ลดลง ร้อยละ 3.13

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนตุลาคม 2556 เทียบกับเดือนก่อนคาดว่าการผลิตทั้งเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาวจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย โดยในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กแผ่นรีดเย็นการผลิตอาจจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลทางบวกจากการใช้มาตรการ AD และมาตรการ Safeguard สำหรับเหล็กเส้นที่ใช้ในธุรกิจก่อสร้างจะขยายตัวขึ้นตามภาคการก่อสร้างที่ยังคงมีความต้องการอยู่

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน 2556 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เนื่องจากตลาดในประเทศมีฐานที่สูง อันเกิดจากนโยบายรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน ดังนี้

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 194,737 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการผลิต 232,604 คัน ร้อยละ 16.28 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2556 ร้อยละ 0.86 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 94,945 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการจำหน่าย 132,874 คัน ร้อยละ 28.55 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์ PPV รวมกับ SUV และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอส่งมอบรถยนต์ในหลายพื้นที่ประสบอุทกภัย และการชะลอการตัดสินใจของลูกค้าที่รอการเปิดตัวของรถยนต์รุ่นสำคัญจากหลายค่าย และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ร้อยละ 5.33 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์ PPV รวมกับ SUV และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 118,253 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการส่งออก 101,279 คัน ร้อยละ 16.76 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2556 ร้อยละ 13.47 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2556 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2556 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2556 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 49 และส่งออกร้อยละ 51

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน 2556 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนกันยายน ดังนี้

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 171,654 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการผลิต 217,281 คัน ร้อยละ 21.00 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ร้อยละ 6.92 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 151,701 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการจำหน่าย 170,859 คัน ร้อยละ 11.21 โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ร้อยละ 7.36 โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 24,268 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีการส่งออก 20,462 คัน ร้อยละ 18.60 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ร้อยละ 20.05 ซึ่งลดลงในประเทศอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2556 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2556 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2556 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 85 และส่งออกร้อยละ 15

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า และโครงการก่อสร้างบ้านในเขตหัวเมืองใหญ่ การส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์จึงชะลอการส่งออกลงเพื่อสำรองไว้ใช้ใน

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกันยายน 2556 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 0.92 และ 1.20 ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิต และจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.37 และ 5.40 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้โดยปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากยังไม่หมดฤดูฝน ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายเขตพื้นที่ ทำให้การก่อสร้างต้องชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ราคาปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งในโครงการก่อสร้างบ้านและคอนโดมิเนียม โดยขณะนี้ผู้ประกอบการบางรายได้มีการปรับขึ้นราคาขายโครงการที่พัฒนาขึ้นใหม่บ้างแล้ว

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนกันยายน 2556 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ลดลงร้อยละ 14.03 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงถึงร้อยละ 30.33

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกชะลอตัวลง ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย คือ โตโก ไม่มีการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา และศรีลังกาก็ปรับลดปริมาณการสั่งซื้อลงมาก ประกอบกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่อยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทยสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศต่อไป

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากไทยยังไม่หมดฤดูฝน ทำให้การก่อสร้างยังอยู่ในช่วงชะลอตัวต่อไป อย่างไรก็ตาม มาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้นต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกันยายน มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้า เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิตอล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจำหน่ายในช่วงปลายปี และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มาจากความมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ย. 2556

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                    มูลค่า (ล้านเหรียญฯ)          %MoM           %YoY
          อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์                1,455.8                 -1.5           -9.1
          วงจรรวมและไมโครแอส แซมบลี                      798.7                 24.7           22.4
          เครื่องปรับอากาศ                                 272.4                  0.0           30.9
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ    198.2                 23.9           11.3
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์                4,627.9                  3.2           -0.8
          ที่มา สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกันยายน 2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 278.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 133.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิตอลเพื่อจำหน่ายในช่วงปลายปีรองรับการแพร่ภาพในระบบดิจิตอล สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 361.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิต HDD มีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะ น้ำท่วม ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้งานระบบ Cloud และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะมารองรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกันยายน 2556 มีมูลค่า 4,627.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.8 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,911.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 3.6 ซึ่งตลาดหลักที่มีการปรับตัวลดลง คือ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 13 และ 20.3 ส่วนอาเซียน สหภาพยุโรป จีนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 6.5 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าส่งออก 272.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือกล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆมีมูลค่าส่งออก 198.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,716.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เนื่องมาจากการส่งออกไปตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 และ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ แต่การส่งออกไปจีนลดลงมากถึงร้อยละ 34.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์เพื่อส่งออกไปตลาดโลก ซึ่งขณะนี้มีความต้องการลดลง

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนตุลาคม 2556 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดหลักบางตลาดเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ