สศอ. เผย MPI เดือนแรกของปี 2557 หดตัว 6.4% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.76%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 10, 2014 16:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2557 หดตัว 6.4% จากการลดลงของ
การผลิตยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และเครื่องประดับเพชรพลอย ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต
อยู่ที่ 61.76%

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สรุปทั้งปี 2556 GDP ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.1 ส่วนไตรมาสที่ 4/2556 GDP ภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 2.9 เป็นผลมาจากมาตรการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัว และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนมกราคม 2557 หดตัวร้อยละ 6.4 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 61.76 จากการลดลงของการผลิตยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เครื่องประดับและเพชรพลอย

ภาวการณ์ผลิตรายอุตสาหกรรมของเดือนมกราคม 2557 ที่สำคัญ มีดังนี้

อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของเดือน มกราคม 2557 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม 2556 ผู้ประกอบการเร่งผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่เป็นผลมาจากนโยบายรถยนต์คันแรก ทำให้มีฐานที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับมีความ กังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ด้านการส่งออกในประเทศแถบโอเชียเนีย และแถบแอฟริกายังมีการขยายตัวเล็กน้อย คาดว่า มีจำนวน 155,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 54.44 และการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศของเดือน มกราคม ปี 2557 คาดว่า มีจำนวน 67,422 คัน ลดลงจาก ช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ร้อยละ 45.91

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ของเดือนมกราคมปี 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.60 โดยเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่ม Monolithic IC, Semiconductor และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เนื่องจากส่งออกไปตลาดหลัก ได้เพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ1.01 โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มีการปรับตัวลดลง เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เนื่องมาจากภาคครัวเรือนในประเทศมีการชะลอการใช้จ่าย ยกเว้นเครื่องปรับอากาศ จากการขยายตัวของโครงการบ้าน/การคอนโดมิเนียมในประเทศ และการส่งออก ไปตลาดอาเซียน สหภาพยุโรปที่มีการขยายเพิ่มขึ้นรวมถึงสายไฟฟ้าที่มีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.94 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการที่ภาครัฐมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เดือนมกราคม ปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอ มีการผลิตลดลงทั้งเส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าผืน จากคำสั่งซื้อเพื่อผลิตในผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะในอาเซียน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองทำให้ลูกค้าไม่กล้า เสี่ยงสั่งซื้อสินค้า เนื่องจากไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งมอบสินค้าได้ตามระยะเวลาที่กำหนด สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการผลิตเพิ่มขึ้น เป็นผลจากตลาดสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวภายหลัง ที่มีการยกเลิกมาตรการ QE ในขณะเดียวกันตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง 3 ตลาดนี้มีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 70 และจะผลิตตามคำสั่งซื้อเป็นส่วนใหญ่

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.1 ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 6.9 เนื่องจากการผลิตในสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ ประสบปัญหาวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค ประกอบกับสินค้าหลายชนิดได้รับผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ได้ลามไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจและข่าวการแก้ไขวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจ ของหลายประเทศในสหภาพยุโรป ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยของเดือนมกราคม 2557 มีปริมาณ 1.42 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 19.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตมีปริมาณ 0.58 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 10.20 เนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลให้ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ และลดปริมาณสินค้าในคลังสินค้าเพื่อรอดูทิศทางในอนาคต

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต

Index                       2555                                          2556                                                                       2557
                            ธ.ค.     ม.ค.      ก.พ.    มี.ค.     เม.ย.      พ.ค.      มิ.ย.      ก.ค.      ส.ค.      ก.ย.     ต.ค.     พ.ย.     ธ.ค.    ม.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม         179.72   180.63    174.17  199.55    162.98    179.25    180.94    174.27    173.86    172.76   171.26   171.94   168.32   169.5
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) %    -6.7      0.5      -3.5    14.5     -18.3       9.9       0.9      -3.6      -0.2      -0.6     -0.8      0.4     -2.1     0.4
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) %    22.7     10.1      -1.2     0.7      -3.9      -7.4      -3.2      -4.9      -2.8      -2.8       -4    -10.7     -6.3    -6.4
อัตราการใช้กำลังการผลิต %      63.62    67.15     63.43   71.56      60.4     66.85     64.93     64.54      63.5     63.58    63.46    63.07     59.9   61.76

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ