สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (มกราคม – มีนาคม 2557)(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 15:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางชะลอตัวลง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อ เนื่องจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ หรือจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปจำนวนมากในปีก่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ชะลอตัวลงตามไปด้วย ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม การส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 เป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ปริมาณยางพาราที่เข้าสู่ตลาดลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่อยู่ในระดับสูงอย่างที่เคยเป็น เนื่องจากสต็อคยางที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งปริมาณการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการใช้ โดยผลผลิตจากพื้นที่ปลูกใหม่จะเริ่มทะยอยออกสู่ตลาด

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.44 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 3.71 สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์ยางล้อ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ รวมทั้งยางหล่อดอก ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.00 และ 12.32 ตามลำดับ

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางสำคัญที่ลดลงนี้ เนื่องจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่การผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 16.67 และ 13.67 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางล้อในประเทศ ประกอบด้วยยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.66 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.58

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางสำคัญในประเทศที่ลดลงนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จากผลกระทบของสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนชะลอการบริโภคและชะลอการลงทุนออกไป อย่างไรก็ตาม ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาค อุตสาหกรรมและครัวเรือน ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 2,090.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 11.48 และ 13.44 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ คือ จีน ลดการนำเข้าหลังจากที่เร่งนำเข้าไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ ประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 2,049.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 3.70 และ 5.06 ตามลำดับ โดยในส่วนของถุงมือยาง/ ถุงมือตรวจ ลดลงร้อยละ 5.65 เมื่อเทียบกับ

ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ยางยานพาหนะยังขยายตัวได้ดี ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยตลาดส่งออกสำคัญของผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 การนำเข้ายาง รวมเศษยาง ซึ่งประกอบด้วยยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ และยางอื่นๆ มีมูลค่า 271.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.67 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 13.34 โดยมูลค่ายางสังเคราะห์เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.32 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 13.40

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 278.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.84 และ 13.02 ตามลำดับ สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. ในปีงบประมาณ 2557 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย และโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

2. กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในภาค อุตสาหกรรม รวมทั้งความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 และวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ตามลำดับและกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราขึ้น (คำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 240/2556 ลงวันที่ 26 กันยายน 2556) เพื่อดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางให้มี ขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบตามนโยบายของรัฐบาล

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ หรือจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปจำนวนมากในปีก่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ชะลอตัวลงตามไปด้วย สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงมือตรวจเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายของไตรมาสที่ 1 หลังจากชะลอตัวลงในช่วงต้นปี

ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม การส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย

แนวโน้ม

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 อุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ แต่ในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทดแทนการนำเข้าที่ลดลงได้

สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ราคายางยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการใช้ โดยผลผลิตจากพื้นที่ปลูกใหม่จะเริ่มทยอยออกสู่ตลาด

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ