สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 14:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 4 ปี 2556 เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของยุโรปมีสัญญาณการฟื้นตัวเล็กน้อยและยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ 106.9 USD/Barrel ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 อยู่ที่ 107.3 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม (ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557) อยู่ที่ 99.88 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวจัดในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ความต้องการ heating oil ปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 คือ อุปสงค์ในประเทศหดตัวลง โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนลดลง เนื่องจากการใช้จ่ายสินค้าคงทนประเภทยานยนต์หดตัวสูงภายหลังผลของนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกหมดลง การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนลดลง ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว แต่อุปสงค์ต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะภาคบริการ แต่การส่งออกสินค้าและการนำเข้าสินค้าลดลง

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ 0.4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 1.1 และปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ที่หดตัวร้อยละ 1.1 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 หดตัว เป็นผลจากความต้องการภายในประเทศหดตัวลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตลดลง เนื่องจากความต้องการในประเทศลดลง ประกอบกับฐานที่สูงในปีที่แล้ว จากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 และเศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 - 5.0

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ชะลอตัวลงทั้งการส่งออกและการนำเข้าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสที่ 4 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 115,793.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 56,590.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 59,203.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 นั้น มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.82 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 2.53 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ดุลการค้ายังคงขาดดุลอย่างต่อเนื่องโดยมีมูลค่า 2,612.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.03 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 7.90

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม 52,808.0 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 21,158.6 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 31,649.4 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 9,928.5 ล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 12,778.1 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 425 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 615 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 4 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 228,900 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนใน ไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 177 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 46,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 105 โครงการ เป็นเงินลงทุน 73,400 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 143 โครงการ เป็นเงินลงทุน 108,800 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 108,000 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 59,000 ล้านบาท และหมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะมีเงินลงทุน 23,200 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 238 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 79,143 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศฮ่องกงได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 22 โครงการ มีเงินลงทุน 21,421 ล้านบาท ประเทศเนเธอร์แลนด์มีจำนวน 3 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 6,583 ล้านบาท และประเทศสิงคโปร์มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 17 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 5,408 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 มีจำนวน 1,728,637 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว (Long product) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.04 สำหรับเหล็กทรงแบน (Flat product) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.96

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กปี 2557 คาดว่าความต้องการใช้เหล็กจะทรงตัว เพราะอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก อย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ปริมาณการผลิตจะขยายตัวเพียงเล็กน้อย เพราะตลาดในประเทศคาดว่าจะยังคงเผชิญกับภาวะหดตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 2556 แต่การส่งออกจะยังคงขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งจะชดเชยตลาดรถยนต์ในประเทศที่หดตัวลงได้ แต่อุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งก็เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการใช้เหล็กเป็นจำนวนมากนั้น คาดว่าจะชะลอตัว จากการที่โครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีแนวโน้มลดลง เพราะปัญหาทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลง ผู้บริโภคมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนสูงขึ้น รวมทั้งความไม่มั่นใจของนักลงทุน นอกจากนั้น ผู้ผลิตเหล็กในประเทศก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่ยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศแล้วก็ตาม

ยานยนต์ เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2556 (ต.ค.-ธ.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 526,828 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 730,099 คัน ร้อยละ 27.84 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 220,233 คัน ลดลงร้อยละ 31.22 รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 297,530 คัน ลดลงร้อยละ 24.99 ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 9,065 คัน ลดลงร้อยละ 31.69 หากพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 10.60 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 14.88 และ 5.69 และ 39.81 ตามลำดับ

ข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ ประมาณการว่า ในปี 2557 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,500,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 50 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 50 เนื่องจากการปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติของตลาดในประเทศ ก่อนจะมีนโยบายรถยนต์คันแรก และตลาดต่างประเทศที่คาดว่าจะมีความต้องการมากขึ้น

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 272.08 ลดลงร้อยละ 0.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการชะลอตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มียอดการซื้อทั้งในประเทศและส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนภาวะการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 2.86 เช่นกัน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 9.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศและตลาดส่งออกชะลอตัวลง และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง

ในปี 2557 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 1-3 เนื่องจาก HDD มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ใน Ultrathin PC และ PC Tablets ซึ่งทำให้ความต้องการ HDD เพิ่มขึ้น ส่วน Semiconductor และ Monolithic IC จะขยายตัวได้ตามความต้องการใช้ในสมาร์ทโฟน และอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีการขยายตัวได้ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศทั้งตลาดในประเทศและส่งออก

เคมีภัณฑ์ สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่ลดลงจากไตรมาสที่ 3 โดยการส่งออกส่วนมากส่งไปยังตลาดญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลง เนื่องจากความต้องการนำเข้าของญี่ปุ่นชะลอตัวลง ส่วนการนำเข้าลดลงเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นของค่าพลังงาน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า และค่าขนส่ง

แนวโน้มปี 2557 คาดว่าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะทรงตัว โดยคาดว่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนในภาพรวมจะมีการขยายตัว ในประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว อย่างไรก็ตามมีปัจจัยลบ คือ ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย ผู้นำเข้าไม่มั่นใจต่อการสั่งซื้อ ว่าจะสามารถผลิตและป้อนสินค้าให้ได้ตามคำสั่งซื้อหรือไม่ และตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญคาดว่าจะชลอตัว เนื่องจากจะเก็บภาษีการบริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนเมษายน 2557

พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 4 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก และดัชนีส่งสินค้า ลดลงร้อยละ 1.40 และ 1.50 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงเทศกาลคริสมาสต์ และ ปีใหม่ วันหยุดยาว และปัญหาการเมืองที่เริ่มส่อเค้าถึงความไม่มั่นคง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการผลิตและการจำหน่ายสินค้า

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติกปี 2557 ปัญหาทางการเมืองที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลมากขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะเพิ่มการผลิตเป็น 2.5 ล้านคัน และจากการตั้งเป้าในการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยผลักดันการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นพลาสติก ให้สูงขึ้นตามด้วย สำหรับเศรษฐกิจของโลกที่ยังคงผันผวนจากข่าวการปรับลดเพดานวงเงินของมาตรการ QE : Quantitative Easing ของสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าพลาสติกจากไทย (3916-3926) ประมาณ 10,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2556 มูลค่าการส่งออกโดยรวมมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งประเทศต่างๆ ได้แก่ จีนและเวียดนามอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากไทยแต่ยังไม่เปิดดำเนินการในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ยังคงไม่มีเสถียรภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2557 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมปลายทาง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลในปี 2556 สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ยังคงไม่มีเสถียรภาพ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิต ไตรมาส 4 ปี 2556 ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งในกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม และจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ทำให้คู่ค้ามีความวิตกกังวลว่า ผู้ประกอบการไทยอาจส่งมอบสินค้าได้ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด จึงลดความเสี่ยงโดยลดยอดคำสั่งซื้อจากไทยลง ส่งผลต่อความต้องการใช้กระดาษเพื่อนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์กระดาษลดลง ยกเว้น กระดาษพิมพ์เขียน ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการช่วงปลายปี เช่น การสั่งซื้อพัสดุของหน่วยงานภาครัฐช่วงต้นปีงบประมาณ ประกอบกับฐานตัวเลขที่ต่ำในโตรมาสก่อนหน้า ซึ่งได้ลดการผลิตมาโดยตลอดจากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนราคาถูกจากจีนจนกระทบต่อการผลิตของไทย

คาดการณ์สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาสแรก ของปี 2557 จะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย โดยภาคการผลิตอาจทรงตัว เนื่องจากการแข่งขันด้านราคากระดาษพิมพ์เขียนที่นำเข้าจากจีนซึ่งมีราคาต่ำมาก เทศ

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2556 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณการผลิต 36.16 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 15.22 และ 6.59 ตามลำดับ เนื่องจาก ผู้ผลิตได้ลดกำลังการผลิตในช่วงปลายปีตามกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวจากผลกระทบอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับนโยบายรถยนต์คันแรก และปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการผลิต 2.04 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.00 และ 28.30 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายรถยนต์คันแรก จึงสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ตามต่างจังหวัด และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลขาย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง และผลกระทบต่อเนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรก จะส่งผลให้การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านต้องชะลอออกไปอีกระยะหนึ่ง จึงทำให้การขยายตัวของตลาดเซรามิกที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาจไม่สูงมากนัก สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาดประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และการขยายตัวของตลาดอาเซียน ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2557 มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.11 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.61 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 4.10 และ 7.13 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 4.32 ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของทุกปีเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของไทย แรงงานในภาคก่อสร้างซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มเดียวกับภาคเกษตรต่างเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเพื่อทำการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้การก่อสร้างทั้งในโครงการของภาครัฐและภาคเอกชนต้องชะลอตัวลง นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสนี้หดตัวลง ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.81

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากไตรมาสที่ 1 ของทุกปีเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง แรงงานในภาคก่อสร้างที่กลับภูมิลำเนาเพื่อทำการเก็บเกี่ยวจะกลับเข้าสู่การทำงานในภาคก่อสร้างตามปกติ ส่งผลให้ภาคก่อสร้างขยับตัวดีขึ้น

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไตรมาส 4 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 2.25 แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบทั้งปี 2556 การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.96 เนื่องจากความต้องการในตลาดหลักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ ชะลอตัวค่อนข้างมาก แต่กลุ่มผ้าผืน กลับมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดหลักทุกตลาด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน โดยภาพรวมมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.89 กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อสำเร็จรูปจากผ้าถัก และเสื้อสำเร็จรูปจากผ้าทอลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อในตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นลดลง แต่เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ในตลาดหลักทุกตลาด สำหรับมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปตลอดทั้งปี 2556 ลดลง จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลัก ประกอบกับการย้ายฐานการผลิตของโรงงานเครื่องนุ่งห่มขนาดใหญ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มส่งผลต่อปริมาณคำสั่งซื้อในไทยลดลง ส่งผลให้การส่งออกในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีทิศทางลดลง ในส่วนการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ปี 2556 มีการนำเข้าเสื้อผ้าแนวแฟชั่นราคาไม่สูงจากจีน เวียดนาม ตุรกี และฮ่องกง เพิ่มขึ้น

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในไทย เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย ผู้นำเข้าหลายรายเริ่มไม่มั่นใจต่อการสั่งซื้อ ว่าจะสามารถผลิตและป้อนสินค้าให้ได้ตามคำสั่งซื้อหรือไม่ โดยผู้นำเข้าบางรายเริ่มหันไปลงออเดอร์กับประเทศคู่แข่ง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาจากการส่งมอบ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าไตรมาสหน้า หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เนื่องจากกลุ่มสินค้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตในหลายประเทศในอาเซียนและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทดแทนได้ และเริ่มมีการย้ายคำสั่งซื้อไปให้ผู้ผลิตในประเทศเหล่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การตลาด และการค้าส่งเสื้อผ้า สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า ที่ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย รวมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำกระแสแฟชั่นในภูมิภาค การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก เป็นเวทีให้นักออกแบบสินค้าแฟชั่นได้แสดงผลงาน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการผลิตและการออกแบบได้มีโอกาสขยายช่องทางการค้าสู่ตลาดโลก โดยในปี 2557 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดจัดงานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง (BIFF & BIL) ในช่วงเดือนมีนาคม ณ เมืองทองธานี เพื่อพัฒนาสินค้าและช่องทางการตลาดต่าง ๆ และตั้งเป้าหมายการผลิตสินค้าสิ่งทอ (ผ้าผืนและเส้นด้าย) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปี 2556 หรือประมาณ ร้อยละ 9 เนื่องจากคาดการณ์ว่าความต้องการในตลาดหลักจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 ตามสภาพภาวะเศรษฐกิจในตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลาย ปี 2556

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ เพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีอย่างต่อเนื่อง และความต้องการของตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 4 ปี 2556 มีปริมาณการผลิต 2.15 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.14 และ 0.94 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2556 ในภาพรวมยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบไม้ ค่าขนส่ง และค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปริมาณการผลิต 8.04 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.87

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน และผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาจทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง ยา ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีปริมาณการผลิตยาในประเทศทั้งสิ้นรวม 6,467.19 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 7.32 และ 6.16 ตามลำดับ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตยาบางรายหยุดเดินเครื่องจักร ประกอบกับในไตรมาสนี้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่ค่อยสงบเท่าที่ควร มีการชุมนุมปิดเส้นทางเดินรถในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ผู้ผลิตประสบปัญหาในจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อทำการผลิต

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 1 ของทุกปีเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมยาเข้าสู่ช่วงชะลอตัว โดยจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของทุกปี สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตยาที่ได้มีการหยุดเดินเครื่องจักรไปเมื่อไตรมาสก่อนได้กลับมาทำการผลิตยาตามปกติ ทำให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของการนำเข้า คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้าลดลงเล็กน้อยหรือทรงตัว เนื่องจากสถานพยาบาลภาครัฐซึ่งเป็นคู่ค้าหลักได้เร่งใช้จ่ายงบประมาณในช่วงปลายปีงบประมาณไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโดยภาพรวมอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสแรกของปี แต่ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้สูง เนื่องจากไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง โดยเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และภาพรวมทั้งปี 2556 ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ซึ่งขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าจะทดแทนการนำเข้าที่ลดลงได้ รวมทั้งประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากเกินไป

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ไตรมาส 4 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ได้แก่ การฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก การผลิตรองเท้า เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างสหภาพยุโรป (EU) เริ่มเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวจากภาวะถดถอยโดยจะเห็นได้จากดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจหลายตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ EU ที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งส่งผลดีต่อแนวโน้มการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีการส่งสินค้าการส่งออก ไตรมาส 4 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ชะลอตัวลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด มียอดคำสั่งซื้อในประเทศ และยอดการส่งออกไปจีนและยุโรปลดลง สำหรับสินค้าเครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วน ยังขยายตัวได้เพิ่มขึ้น จากสัญญาณเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

แนวโน้มปี 2557 คาดว่า การผลิตและการส่งออกรองเท้า จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปี 2556 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อาจจะมีปัจจัยจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่มีศักยภาพมากกว่าไทย ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดเอเชียและอาเซียนจะมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนและเวียดนาม ที่นำเข้าชิ้นส่วนรองเท้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น รวมทั้งตลาดพม่าที่มีความต้องการรองเท้ามากขึ้น เป็นโอกาสในการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง และหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้จากความต้องการใช้เพื่อผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เบาะรถยนต์ ที่การส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2556 ภาคการผลิตและการจำหน่ายหดตัวลง ร้อยละ 2.39 และ 5.40 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2557 คาดว่า จะทรงตัวตามการผลิตเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อที่อาจเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.01 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับชะลอตัวลง แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.45 เป็นผลจากการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มสินค้า เช่น ปศุสัตว์ ผักผลไม้ นมและผลิตภัณฑ์ และธัญพืชและแป้ง

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากคำสั่งซื้อจะชะลอตัวภายหลังเทศกาลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง แม้จะได้รับผลดีจากการปรับค่าแรงและเงินเดือน แต่จะส่งผลทำให้การบริโภคในประเทศปรับตัวลดลง สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังส่งผลต่อการผลิตและส่งออก คือ ปริมาณ วัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง น้ำท่วมและโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบลดลง เนื่องจากโรคตายด่วนในลูกกุ้ง และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ แม้ว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่จากข่าวการที่รัฐบาลของหลายประเทศจะนำทองคำสำรองออกขายเพื่อลดหนี้ ทำให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจยังคงซบเซา และสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับลดการใช้มาตรการซื้อคืนพันธบัตร ทำให้เป็นการลดการกระตุ้นอุปสงค์ และจากการที่งบประมาณ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสในช่วงเดือนมกราคม 2557 แต่อาจกลับมาเกิดซ้ำได้ เริ่มส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกจะลดต่ำลง นอกจากนี้ ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก จากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงบ้าง แต่อาจอ่อนค่าลงไม่มากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นผลจากการเงินทุนไหลออกไปประเทศ จากการขายในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ระยะสั้น และการปรับชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น และค่าเงินในภูมิภาคเอเชียปรับตัวอ่อนค่าลง แต่ระดับราคาสินค้าของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ประกอบกับการค้าของไทยยังผูกกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกามากกว่าเงินสกุลอื่น ทำให้การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับชะลอตัวลงได้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ