สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 15:05 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อยังขยายตัวได้ดี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับการส่งออกในยางแปรรูปขั้นต้นชะลอตัวลง ทั้งนี้เนื่องจากราคายางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด ทั้งปี อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวก คือ ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวมมากนัก

สำหรับราคายางยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากสต็อคยางที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 จะเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ปริมาณยางพาราที่เข้าสู่ตลาดจะลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้น

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.87 และ 4.24 ตามลำดับ

สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.68 และ 7.50 ตามลำดับ แต่การผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน รวมทั้งยางหล่อดอกปรับตัวลดลง และเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการผลิตยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน รวมทั้งยางหล่อดอกปรับตัวลดลง สำหรับการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 11.34 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.90

เมื่อมองภาพรวมทั้งปี 2556 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นยังทรงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ลดลงเพียงร้อยละ 0.35 ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางส่วนใหญ่ถือว่ายังขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ซึ่งเติบโตตามอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การตลาดและการจำหน่าย การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.85 และ 30.59 ตามลำดับ

สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางล้อในประเทศ ประกอบด้วยยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นในส่วนของยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก สำหรับในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 22.03 และ 7.71 ตามลำดับ

เมื่อมองภาพรวมทั้งปี 2556 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.33 ในส่วนของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 8.46 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การค้าระหว่างประเทศ การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 3,427.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.32 และ 14.49 ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ ประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 2,128.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น 1.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 0.02

ในภาพรวมทั้งปี 2556 การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นลดลงมีมูลค่า 12,153.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.14 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากราคายางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.22 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.27 เนื่องจากความต้องการใช้ของสหภาพยุโรปชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทดแทนการส่งออกที่ลดลงได้ส่วนหนึ่ง โดยตลาดส่งออกสำคัญของผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 การนำเข้ายาง รวมเศษยาง มีมูลค่า 251.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และภาพรวมทั้งปี 2556 ลดลง ร้อยละ 11.61 10.14 และ 14.84 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 283.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และภาพรวมทั้งปี 2556 ลดลงร้อยละ 16.40 14.83 และ 4.89 ตามลำดับ สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. ในปีงบประมาณ 2557 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย และโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

2. กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในภาค อุตสาหกรรม รวมทั้งความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 และวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ตามลำดับและกระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราขึ้น (คำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 240/2556 ลงวันที่ 26 กันยายน 2556) โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี) เป็นประธานคณะทำงานฯ เพื่อดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางให้มีขีดความสามารถ ในการแข่งขันกับต่างประเทศ และสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบตามนโยบายของรัฐบาล

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศชะลอตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และภาพรวมทั้งปี 2556 ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ซึ่งขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ ในประเทศ

สำหรับมูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นปรับตัวลดลง เนื่องจากราคายางพาราปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งปี 2556 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ ยังขยายตัวได้ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการส่งออกยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก รวมทั้งตลาดในแถบอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมมากนัก

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าจะทดแทนการนำเข้าที่ลดลงได้ รวมทั้งประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากเกินไป

สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ราคายางยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากสต็อคยางที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1 จะเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ปริมาณยางพาราที่เข้าสู่ตลาดจะลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ