สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556 (กรกฎาคม – กันยายน 2556)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 13:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 3 ปี 2556 เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของยุโรปยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2556 อยู่ที่ 106.3 USD/Barrel ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2555 อยู่ที่ 106.4 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม (ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556) อยู่ที่ 94.20 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากสต๊อกน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูง

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 และขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 คือ การชะลอลงของอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนชะลอลง สินค้าประเภทคงทนและกึ่งคงทนชะลอลง ในขณะที่กลุ่มสินค้าไม่คงทนและกลุ่มบริการยังขยายตัว การลงทุนชะลอตัวลงทั้งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิหดตัว ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาครัฐขยายตัวในไตรมาสนี้

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ 1.0 หดตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 และหดตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยเป็นผลมาจากการลดลงในกลุ่มอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมสินค้าทุน ส่วนอุตสาหกรรมวัตถุดิบทรงตัวเป็นผลจากความต้องการจากต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวและความต้องการใช้ภายในประเทศชะลอตัวต่อเนื่อง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 3.8-4.3 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.5

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ชะลอตัวลงทั้งการส่งออกและการนำเข้าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสที่ 3 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 119,574.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 58,835.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 60,738.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 นั้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.43 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.12 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ดุลการค้ายังคงขาดดุลแต่มีมูลค่าลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีมูลค่า 1,902.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 2.08 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.55

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีมูลค่ารวม 99,025.0 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 64,190.8 ล้านบาท สำหรับเดือนสิงหาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 34,834.2 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 31,648.3 ล้านบาท และในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 23,815.6 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 483 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 630 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 348,000 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 188 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 55,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 143 โครงการ เป็นเงินลงทุน 210,200 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 152 โครงการ เป็นเงินลงทุน 82,000 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 66,600 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรม และผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 35,900 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 161 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 75,130 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 20 โครงการ มีเงินลงทุน 6,799 ล้านบาท ประเทศไต้หวันมีจำนวน 15 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 3,203 ล้านบาท และประเทศเกาหลีใต้มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 10 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 1,602 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีประมาณ 1,559,680 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 4.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงแบนลดลง ร้อยละ 3.65 โดยเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 87.88

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วง 3 เดือนหลังของปี 2556 คาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคเหล็กโดยรวมของประเทศจะชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่วงปลายปีที่ผู้ซื้อจะชะลอการสั่งซื้อและจะไม่เก็บไว้เป็นสต๊อก นอกจากนี้เป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่กระทบกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังซึ่งถูกระบายจากช่วงครึ่งแรกของปีส่งผลให้ระดับการผลิตในประเทศชะลอตัวลงด้วย นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากจากปัญหาการผลิตส่วนเกินของประเทศจีน ทำให้จีนส่งเหล็กที่มีราคาถูกเข้ามายังหลายประเทศของโลก ซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นเป้าหมายในการส่งออก และถึงแม้ว่าไทยจะมีมาตรการทางการค้าเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรม เช่น Safeguard และ AD แต่ก็ยังไม่คุ้มครองได้ทั้งหมด ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 589,292 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 662,321 คัน ร้อยละ 11.03 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 258,742 คัน ลดลงร้อยละ 7.20 รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 315,496 คัน ลดลงร้อยละ 15.50 แต่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 15,054 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.40

เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ได้ทยอยส่งมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว การส่งออกมีการขยายตัว ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดในต่างประเทศ

อุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 คาดว่าจะทรงตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2555 แต่จะขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นฤดูการขาย บริษัทรถยนต์แต่ละค่ายจัดส่งเสริมการตลาด เพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศ โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 6 แสนคันเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 275.02 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.98 และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายและความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2556 คาดว่าการผลิตจะทรงตัว โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะขยายตัวร้อยละ 0.99 ซึ่งมาจากสินค้าในกลุ่มตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ สายไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเข้ามามาก ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้งานระบบ Cloud computing และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะมารองรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เคมีภัณฑ์ สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 มีอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักที่ไทยส่งออกเคมีภัณฑ์ มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มุ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภค และขยายการลงทุนเพิ่ม และตลาดอาเซียนรวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้ามีอัตราลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักของประเทศซึ่งใช้เคมีภัณฑ์มีการส่งออกในไตรมาส 3 ที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

แนวโน้มไตรมาสที่ 4 ปี 2556 คาดว่าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะทรงตัว เนื่องจากมีปัจจัยลบ คือ ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลในการจับจ่ายใช้สอย และตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญมีภาวะชะลอตัวลง ส่วนปัจจัยบวก คือ การส่งออกเคมีภัณฑ์ของไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนในภาพรวมมีการขยายตัว ในประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และจีนมีนโยบายกระตุ้นการบริโภค และขยายการลงทุนเพิ่ม รวมถึงอินเดียเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้คาดว่าการส่งออกเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 3 ปี 2556 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก และดัชนีส่งสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.02 และ 8.32 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงที่ทำการผลิตมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่น เพราะต้องมีการเตรียมสินค้าเพื่อจำหน่ายในเทศกาลคริสมาสต์ และ ปีใหม่

แนวโน้มในไตรมาส 4 ปี 2556 การผลิต การนำเข้า การส่งออก น่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ซึ่งเป็นวันหยุดยาว รวมทั้งต้องคำนึงถึง ปัญหาทางการเมืองที่อาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลในเศรษฐกิจทำให้การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มสูงขึ้น ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นผลมาจากการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากไทยแต่ยังไม่เปิดดำเนินการในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อ และปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2556 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2555 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ยังคงไม่มีเสถียรภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม ดังนั้นในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงควรบุกเบิกตลาดในประเทศกำลังพัฒนาใหม่ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่ เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาส 3 ปี 2556 การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยในส่วนของกระดาษ ได้แก่ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีการผลิตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.15 3.14 และ 6.80 ตามลำดับ ซึ่งยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์เพื่อการบรรจุหีบห่อ ประกอบกับความต้องการใช้ในภาคการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษทรงตัว สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีการผลิตลดลง ร้อยละ 19.39 4.14 5.30 และ 2.51 ตามลำดับ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อ ลดลง ซึ่งกระดาษส่วนใหญ่จะนำไปผลิตในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคซึ่งอยู่ในภาวะชะลอตัวจากหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้

ภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2556 คาดว่า การผลิตทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวม จะขยายตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจและมีทิศทางเดียวกันกับไตรมาสที่ 2 สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษและสิ่งพิมพ์ มีแนวโน้มขยายตัวแม้ว่าจะมีการใช้สื่อดิจิทัลอย่างกว้างขวาง แต่กระดาษยังคงเป็นที่ต้องการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภคและอุปโภค ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและออกแบบใหม่ ๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคและกระแสอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2556 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณการผลิต 42.85 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.47 และ 2.53 ตามลำดับ สำหรับเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการผลิต 2.00 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.99 และ 12.36 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการซื้อรถยนต์มากกว่าการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง จึงชะลอการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านออกไป สำหรับการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์สามารถเติบโตเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ และการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้เครื่องสุขภัณฑ์เติบโตได้ดีกว่ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีอย่างต่อเนื่อง และไตรมาสนี้เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลขาย นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังได้รับประโยชน์จากการบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิกที่จะทำให้การผลิตและจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.50 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 11.09 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 2.56 และ 9.00 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 1.68 ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาสที่ 3 ของทุกปีเป็นช่วงฤดูฝนของไทย การก่อสร้างทั้งในโครงการของภาครัฐและภาคเอกชนจึงชะลอตัวลง นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสนี้หดตัวลง ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.32

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวลดลง เนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของทุกปีเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยว แรงงานในภาคก่อสร้างจะทยอยกันกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท เท่ากันทุกภาคส่วน ส่งผลให้ภาคก่อสร้างขาดแคลนแรงงาน และการก่อสร้างโครงการต่างๆ ต้องชะลอตัวลงสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไตรมาสที่ 3 ปี 2556 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดภายในประเทศ ประกอบกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ ในด้านการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ และกลุ่มผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดหลักทุกตลาด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน ส่งผลให้การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพิ่มสูงขึ้น กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก และได้รับผลกระทบต่อเนื่อง จากกลุ่มผู้นำเข้าหลักในสหภาพยุโรปมีคำสั่งซื้อลดลง ในขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มอาเซียนเริ่มกระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากจีน เวียดนาม ตุรกี และฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าแนวแฟชั่น

สถานการณ์ด้านการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอาจจะกลับมากระเตื้องขึ้นอีกครั้ง หลังจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับเป็นช่วงฤดูกาลของการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของเทศกาลสำคัญช่วงปลายปี สำหรับการส่งออกสิ่งทอ คาดว่า จะขยายตัวได้ทั้งในส่วนของเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน เพื่อสนองความต้องการใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน ในส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ในช่วงที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกในภาพรวมปรับตัวลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 อาจมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล เพื่อการส่งมอบสินค้าในช่วงปลายปี 2556 คาบเกี่ยวถึงไตรมาสแรกของ ปี 2557 ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในภาพรวมยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบไม้ ค่าขนส่ง และค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีปริมาณการผลิต 1.97 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.60 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อส่งออก แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 16.88

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ ที่ส่งผลให้ความต้องการเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพิ่มขึ้น ยา ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 การผลิตยาในประเทศ มีปริมาณ 6,892.02 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.20 สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 มีปริมาณการผลิต 20,184.43 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.42 เนื่องจากผู้ผลิตชะลอการผลิต เพื่อระบายสินค้าคงคลังที่มีอยู่ก่อน นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตบางรายเปลี่ยนแผนการตลาด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงไม่กี่รายการ เช่น ยารักษาโรคเฉพาะทางที่ สั่งจ่ายโดยแพทย์ (ความดัน เบาหวาน หัวใจ) จากเดิมที่เน้นผลิตยาที่จำหน่ายได้ปริมาณมากแต่มูลค่าเพิ่มต่ำเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา

ไตรมาสสุดท้าย ของปี 2556 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ รวมถึงมูลค่าการนำเข้าและส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ผลิต รวมถึงผู้สั่งซื้อ จะบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี ตลอดจนสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลัก ได้เร่งการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในช่วงปลายปีงบประมาณ ประกอบกับผู้ซื้อยังมีสินค้าเก่าคงเหลืออยู่ โดยคาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นประมาณช่วงไตรมาสที่ 2 ตามวัฏจักรธุรกิจ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรม ยางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อยังขยายตัวได้ดี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ยางของประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าจะทดแทนการนำเข้าที่ลดลงได้ รวมทั้งประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากเกินไป รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตและการส่งออกสินค้ารองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาส 3 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศลดลงจากค่าครองชีพ และภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัว ทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง ประกอบกับยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงจากความไม่เชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่มีศักยภาพกว่า

แนวโน้มปี 2557 คาดว่า การผลิตและการส่งออกรองเท้า จะชะลอตัวลงกว่าปี 2556 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักอาจจะฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่มีศักยภาพมากกว่าไทย อาจส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดเอเชียและอาเซียนจะมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนและเวียดนาม ที่นำเข้าชิ้นส่วนรองเท้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น รวมทั้งตลาดเมียนมาร์ที่มีความต้องการรองเท้ามากขึ้น เป็นโอกาสในการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2556 ด้านการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.25 แต่การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 1.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงจากหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย

แนวโน้มการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2556 คาดว่า จะขยายตัวได้ตามการผลิตเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ลดลงร้อยละ 15.08 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตน้ำตาลอยู่ในช่วงนอกฤดูหีบอ้อย ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับชะลอตัวลง แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.60 เป็นผลจากการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ในหลายสินค้า เช่น ปศุสัตว์ ผักผลไม้ นมและผลิตภัณฑ์ และธัญพืชและแป้ง

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2556คาดว่า จะเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล โดยการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อเพื่อรองรับเทศกาลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังเกิดไฟไหม้โกดังน้ำตาลในประเทศบราซิลที่ทำให้น้ำตาลเสียหายไปส่วนหนึ่ง นอกจากนี้การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลดีจากการปรับค่าแรงและเงินเดือนส่งผลให้การบริโภคในประเทศยังคงมีการขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ