สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (เมษายน - มิถุนายน 2557)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 1, 2014 14:16 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 2 ปี 2557 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครนยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรป ขณะที่สหภาพยุโรปยังคงมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ 106.2 USD:Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ 101.9 USD:Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนกันยายน (ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2557) อยู่ที่ 96.92 USD:Barrel ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากสหรัฐฯ สามารถผลิตน้ำมันได้เพิ่มขึ้น ทำให้อุปทานน้ำมันอยู่ในระดับสูงกว่าอุปสงค์ และส่งผลให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดในตลาดเอเชียและแอ่งแอตแลนติก ประกอบกับสต๊อกน้ำมันในสหรัฐฯ ลดลงเพียงเล็กน้อย จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดลง

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 หดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 และหดตัวลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 โดยปัจจัยที่ทำให้หดตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 คือ การหดตัวลงของอุปสงค์ในประเทศและอุปสงค์ต่างประเทศ โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนหดตัว ส่วนการลงทุนหดตัวทั้งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน การนำเข้าสินค้าหดตัวต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 หดตัวร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 2.8 และหดตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2556 เนื่องจากความต้องการภายในประเทศลดลง แม้ว่าการส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมเบาหดตัว เป็นผลจากการผลิตหนังและเครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์ยาสูบลดลง อุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยีหดตัว เป็นผลจากการผลิตยานยนต์ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ลดลง ส่วนอุตสาหกรรมวัตถุดิบขยายตัวต่ำ เป็นผลจากอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันขยายตัวต่ำตามสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่อโลหะ และโลหะพื้นฐานการผลิตลดลงตามการก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ลดลง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 จากปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 การส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวเล็กน้อย จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก สำหรับการนำเข้ายังคงมีมูลค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสที่ 2 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 113,456.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 56,493.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 56,962.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 นั้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.50 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.63 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 นี้ กลับมาขาดดุลการค้าอีกครั้ง โดยมีมูลค่า 469.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 0.30 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 12.59

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม 76,899.3 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนเมษายนมีมูลค่า 45,457.1 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 31,442.2 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 9,890.5 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 13,717.3 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 295 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 528 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 150,600 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากที่นักลงทุนชะลอการตัดสินใจลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์การเมือง โดยโครงการลงทุนใน ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 125 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 46,100 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 66 โครงการ เป็นเงินลงทุน 87,800 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 104 โครงการ เป็นเงินลงทุน 16,700 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 102,900 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะมีเงินลงทุน 18,100 ล้านบาท และหมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 16,100 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 46 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 4,566 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 8 โครงการ มีเงินลงทุน 1,556 ล้านบาท ประเทศสหราชอาณาจักรมีจำนวน 3 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 739 ล้านบาท และประเทศไต้หวันมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 4 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 239 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีประมาณ 1,690,529 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 13.69 เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่หดตัวทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่ายอดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่และยอดที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่หดตัวลง ร้อยละ 10.1 และ 16.6 ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของนักลงทุนและผู้บริโภคลดลง สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.17 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.50 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น 23.92 เนื่องจากมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมจากภาครัฐ ได้แก่มาตรการปกป้องชั่วคราวสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ส่งผลให้การนำเข้าเหล็กชนิดดังกล่าวลดลง และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.00 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.33 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.80

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2557 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กจะขยายตัวขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลายและเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท และโครงการรถไฟรางคู่ ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 (เม.ย.-มิ.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 435,193 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณ การผลิตรถยนต์ 619,423 คัน ร้อยละ 29.74 โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 167,177 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 264,805 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 3,271 คัน ลดลงร้อยละ 37.22, 21.64 และ 78.57 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์มีการปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติของตลาดในประเทศ ก่อนจะมีนโยบายรถยนต์คันแรก รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับการส่งออกรถยนต์ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป

          สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณว่า          ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 510,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย             ในประเทศร้อยละ 41 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 59

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2557 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 2.22เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 4.07 ซึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกตัวปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ Semiconductor และ IC เพราะมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smart Phone และกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ (Communication system) /กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) รวมถึงการผลิต HDD ในไตรมาส 2/2557 มีการขยายตัวเป็นไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่อยู่ในภาวะชะลอตัวมาอย่างมาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 5.02เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงการส่งออกไปตลาดหลักค่อนข้างทรงตัวโดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 3.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2557 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.84 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการ Semiconductor และ IC เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะลดลงร้อยละ 0.97 เนื่องจากมีสัญญาณของการชะลอตัวของการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปอาเซียนและตะวันออกกลาง

เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภายในประเทศมีความต้องการใช้ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เพื่อการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการขายตัวของลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะยังสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีและคาดว่าจะมีความต้องการนำเข้าเคมีภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้น

แนวโน้มครึ่งหลังปี 2557 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะมีสถานะที่ดีขึ้น เนื่องจากการปัจจัยภายในประเทศมีการอนุมัติโครงการลงทุนที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น แสดงถึงการขยายการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ราคาน้ำมันดิบ และราคาสินค้าการเกษตร ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศต้องอาศัยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน กลุ่มประเทศ CLMV ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีการขยายตัวของการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการนำเข้าเคมีภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้น

พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 2 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.28 และดัชนีส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาส 2 ความต้องการบริโภคในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงเทศกาลบอลโลกมีความต้องการซื้อทีวีระบบดิจิตอล และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงเร่งผลิตและส่งสินค้าสนองกับความต้องการของผู้บริโภค

ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีหลัง 2557 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มผ่อนคลาย แผนกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น กลไกการดำเนินนโยบายของภาครัฐเริ่มขับเคลื่อนได้ ส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเริ่มมีการฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมพลาสติก เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ส่งออกสำคัญของไทย

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป รวมถึงความสภาวะทางการเมืองภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการใช้สินค้าคงคลังทดแทนการนำเข้า

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2557 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2556 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะประเทศจีน มีอัตราการขยายตัวที่ทรงตัว จึงส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยมีอัตราการขยายตัวที่ไม่ เปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตามคาดว่าปัจจัยหนุนจากภายในประเทศ คือ ความชัดเจนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ได้อนุมัติการลงทุนในโครงการสำคัญต่างๆ และการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ น่าจะทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ดีขึ้นตามไปด้วย

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2557 การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.60 9.55 0.11 และ 0.85 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.21 12.72 3.10 และ 3.73 ตามลำดับ ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2557 มีการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศคลี่คลาย และมีทิศทางชัดเจนขึ้น กระตุ้นการอุปโภคและบริโภคภายในส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องมีความต้องการบรรจุภัณฑ์และหีบห่อสินค้าเพิ่มขึ้น และเพื่อรองรับการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และตลาดสำคัญในภูมิภาคเอเชียที่ขยายตัว ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก 2014 ซึ่งมีการผลิตไปรษณียบัตรทายผลฟุตบอล และจัดทำของที่ระลึกเพิ่มขึ้น

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2557 คาดว่า จะขยายตัวดีขึ้น โดยภาคการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระดาษพิมพ์เขียน ยังคงมีดัชนีผลผลิตลดลง เนื่องจากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากต่างประเทศซึ่งราคาต่ำกว่า มาทดแทนกระดาษที่ผลิตในประเทศ

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2557 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 41.39 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.57 ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีปริมาณ 1.65 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 11.76 เนื่องจาก ไตรมาสนี้เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน สำหรับการผลิตเซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 4.83 และ 6.78 ตามลำดับ จากปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลให้ภาคการลงทุนและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว จึงไม่มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2557 ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ มีแนวโน้มลดลง เนื่องจาก ยังเป็นช่วงฤดูฝน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวของตลาดอาเซียน ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.65 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.96 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.71 และ 9.23 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.76 และ 2.83 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาสที่ 2 ของทุกปีเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวของไทย และยังเป็นช่วงที่ไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน การก่อสร้างโครงการต่างๆ จึงชะลอตัวลง ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศน้อยลง

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจาก คสช. มีนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะโครงการขยายเส้นทางรถไฟรางคู่ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนต่อไป

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 2 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทออยู่ในภาวะชะลอตัว ในขณะที่การผลิตเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัวและตลาดสหภาพยุโรปมีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายประเภทเสื้อกีฬาเพิ่มขึ้น เพื่อ รองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน

แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ปี 2557 คาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในไทย คลี่คลายในทางที่ดี ส่งผลดีต่อการขยายตัวของการส่งออกสินค้าของไทย โดยผู้นำเข้าหลายรายเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้นำเข้าบางรายเริ่มมีคำสั่งซื้อกับประเทศคู่แข่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากกลุ่มสินค้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตในหลายประเทศในอาเซียนและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกับไทย ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีหลัง ยังไม่มีปัจจัยบวก ซึ่งปริมาณการผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่มมีสัดส่วนสำหรับการส่งออกร้อยละ 50 และใช้ใน ประเทศ ร้อยละ 50 เนื่องจากการบริโภคในประเทศมีสัญญาณของการฟื้นตัวไม่มากนัก ขณะที่ปัจจัยบวกด้านตลาดส่งออกยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร หลังจากส่งมอบเสื้อกีฬาสำหรับใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกเสร็จสิ้นไปแล้ว

          ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีปริมาณ 1.81 ล้านชิ้น        เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.05 และ 5.73 ตามลำดับ สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีปริมาณ 3.80 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.06 ซึ่งการผลิตลดลงจากผลกระทบปัญหาทางการเมือง ทำให้ภาคการลงทุน และเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังปัญหาการเมืองในประเทศยุติลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มให้ความต้องการเครื่องเรือนเพื่อใช้ในการตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น

ยา ไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 มีปริมาณการผลิตยาในประเทศทั้งสิ้นรวม 7,027.80 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.04 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ 0.53 ในภาพรวม อุตสาหกรรมยามีการขยายตัวที่ดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐจำกัดงบประมาณในการเบิกจ่ายสวัสดิการสำหรับการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ทำให้ต้องมีการผลิตยาในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาแพงมากขึ้น

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่โรงพยาบาลจะเร่งใช้จ่ายเงินเพื่อให้ทันสิ้นปีงบประมาณ และอุตสาหกรรมยาในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและระเบียบในการขึ้นทะเบียนยาซึ่งถูกปรับเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมาของเวียดนามอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อภาพรวมของการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในระยะต่อไปไม่มากก็น้อย เนื่องจากเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทย

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ หรือจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปจำนวนมากในปีก่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมยาง รถยนต์ชะลอตัวลงตามไปด้วย สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงมือตรวจเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายของไตรมาสที่ 1 หลังจากชะลอตัวลงในช่วงต้นปี

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 อุตสาหกรรมยางล้อในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ แต่ในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทดแทนการนำเข้าที่ลดลงได้

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ไตรมาส 2 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในที่ลดลงตามค่าครองชีพ และภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น มีผลให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง และยังกังวลถึงเศรษฐกิจของโลกจะฟื้นตัวจริงหรือไม่ ส่วนการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ปรับตัวลดลงเล็กน้อย สำหรับการผลิตรองเท้ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากยอดขายรองเท้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากช่วงก่อนหน้าที่กำลังซื้ออยู่ในภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มไตรมาส 3 ของ ปี 2557 คาดว่า การผลิตและการส่งออกรองเท้า จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อาจจะมีปัจจัยจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่มีศักยภาพมากกว่าไทย ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดเอเชียและอาเซียนจะมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนและเวียดนาม ที่นำเข้าชิ้นส่วนรองเท้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น รวมทั้งตลาดพม่าที่มีความต้องการรองเท้ามากขึ้น เป็นโอกาสในการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 มีมูลค่า 2,522.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16.83 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงมากถึง ร้อยละ 32.57 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.49 เนื่องจากการส่งออกทองคำเพื่อทำกำไรในช่วงราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,713.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 67.92 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 6.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.54

แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2557 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาทองคำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าไทยที่อาจทำให้การขยายตัวไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่มีแนวโน้มขยายตัว จากราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารลดลงร้อยละ 46.75 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตน้ำตาลในช่วงปลายของฤดูหีบอ้อย ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับตัวดีขึ้น แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93 เป็นผลจากการผลิตเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ผักผลไม้ ธัญพืชและแป้ง และน้ำมันพืช ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2557 การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนร้อยละ 3.29 จากการผลิตเพิ่มขึ้นในหลายกลุ่ม แม้ว่าวัตถุดิบบางอย่างได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าเริ่มดีขึ้น และตลาดในประเทศที่ยังขยายตัวจากการปรับขึ้นค่าแรงงานและเงินเดือน

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 คาดว่า จะชะลอตัวลงตามฤดูกาลการผลิตที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบเสียหายจากโรคตายด่วนในลูกกุ้ง และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ แม้ว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ และสหรัฐอเมริกาลดการใช้มาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจ ระยะที่ 3 ประกอบกับข่าวความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียได้ลามไปยังสหภาพยุโรป และสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา ทำให้สภาพเศรษฐกิจของโลกยังคงตึงตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลดีจากการปรับค่าแรงและเงินเดือนส่งผลให้การบริโภคในประเทศยังคงมีการขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงผันผวน ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกที่คาดว่าจะปรับชะลอตัวลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ