สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (เมษายน - มิถุนายน 2557)(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 9, 2014 17:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 มีมูลค่า 2,522.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16.83 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำ ยังไม่ขึ้นรูปลดลงมากถึง ร้อยละ 32.57 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงจาก ไตรมาสที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.49 เนื่องจากการส่งออกทองคำเพื่อทำกำไรในช่วงราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกอัญมณีและครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,713.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 67.92 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 6.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.54

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาส 2 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1) ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 18.44 เนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาวในเดือนเมษายน ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 17.33 รวมถึงดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 7.69 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกโดยใช้สต๊อกสินค้า นอกจากนี้หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 23.91 และดัชนีส่งสินค้า หรือดัชนีการจำหน่ายลดลงเช่นกัน ร้อยละ 18.38 เนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อเครื่องประดับแท้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ในส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 11.88 จากการส่งออกโดยใช้สต๊อกสินค้าที่มีจำนวนมาก

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2557 (ตารางที่ 2 ) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,713.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับแท้ลดลง แต่หากเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.54 เนื่องจากมีการส่งออกเพชรเพิ่มขึ้นในตลาดฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย และพลอยเพิ่มขึ้นในตลาดฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 16.83 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงมากถึง ร้อยละ 32.57 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.49 เนื่องจากมีการส่งออก อัญมณี เช่น เพชร พลอย และทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น กล่าวโดยสรุปครึ่งปีแรกการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ขยายตัว ร้อยละ 5.67 โดยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

1. อัญมณี ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 708.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกพลอยลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.58 จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเพชรและพลอยในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 33.71 13.83 และ 13.11 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญมี ดังนี้

1.1 เพชร ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 490.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.77 และ 19.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับเนื่องจากเพชรมีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 30.34 18.78 และ 17.08 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 217.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 11.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากอยู่นอกช่วงเทศกาลจึงมีคำสั่งซื้อเข้ามาน้อย แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.12 เนื่องจากความต้องการในตลาดส่งออกสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 41.24 15.13 และ 6.56 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 837.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 10.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินและทำด้วยทองลดลง และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ร้อยละ 2.54 จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้

2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 361.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเทศกาลการซื้อเป็นของขวัญ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.53 เนื่องจากสินค้ามีราคาถูกลงจากราคาวัตถุดิบเงินที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน กระตุ้นความต้องการในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และรัสเซีย โดยมูลค่าในแต่ละตลาดคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 36.27 25.87 และ 5.61 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 423.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 14.11 และ 5.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการในตลาดสำคัญลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 90.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.01 และ 11.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกในตลาดส่งออกสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์

4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 30.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 13.24 และ 8.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลงในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และออสเตรีย

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 809.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 32.57 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.29 เนื่องจากเป็นการส่งออกเพื่อทำกำไรในช่วงราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง กัมพูชา และสวิตเซอร์แลนด์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 27.02 19.83 และ 13.45 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2557 (ตารางที่ 3 ) มีมูลค่าการนำเข้า 556.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 4.94 และ 19.54 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าเพชร เงิน และแพลทินัม ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวม อยู่ที่ 2,101.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.10 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 45.45 เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง ร้อยละ 51.12 จากการคาดการณ์ว่าราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงอีก โดยการนำเข้าประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่

1.1 เพชร ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 253.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.01 และ 30.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีการผลิตที่ลดลง ประกอบกับเพชรมีราคาสูงขึ้นส่งผลให้มีการนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตลดลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เบลเยี่ยม อินเดีย และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 32.45 21.30 และ 9.56 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 90.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.83 และ 25.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อชดเชย สต๊อกสินค้า โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง บราซิล และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 23.17 7.88 และ 5.76 ตามลำดับ

1.3 ทองคำ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 1,545.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน จูงใจให้เกิดความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 51.12 เนื่องจากการคาดการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นจังหวะส่งออกทองคำมากกว่าการนำเข้าทองคำ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 37.59 17.80 และ 17.75 ตามลำดับ

1.4 เงิน ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 123.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 15.01 และ 28.81 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ตามดัชนีการผลิตที่ลดลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.35 16.01 และ 14.83 ตามลำดับ

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 37.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.02 และ 19.64 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากเป็นการนำเข้าเพื่อชดเชยสต๊อกสินค้าที่ลดลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.57 33.24 และ 11.23 ตามลำดับ

ทั้งนี้ การนำเข้าเพชร พลอย ทองคำ เงิน โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 97.55 ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด

2. เครื่องประดับอัญมณี ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 153.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.13 และ 11.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 138.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.21 และ 14.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศส คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.95 6.68 และ 2.49 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 14.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.28 และ 39.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวประกอบกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลงและหันมาบริโภคเครื่องประดับอัญมณีเทียมทดแทนบางส่วน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.86 18.82 และ 8.23 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดตัวโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการสถานประกอบกิจการในพื้นที่รับผิดชอบของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ โดยเชิญสถานประกอบกิจการกว่า 60 แห่ง ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับสถานประกอบกิจการอย่างเป็นรูปธรรม โดยวางนโยบายสำคัญในการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการพัฒนาศักยภาพในกระบวนการผลิต การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้แก่สถานประกอบกิจการ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะหากสามารถลดการสูญเสียและเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ในส่วนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรม ที่ได้รับการส่งเสริม โดยเน้นการดำเนินงานไปยังผู้ประกอบกิจการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมเป็นสำคัญ

สรุปและแนวโน้ม
สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2557 ภาคการ ผลิตและการจำหน่ายปรับตัวลดลง ร้อยละ 18.44 และ 17.33 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีช่วงวันหยุดยาวในเดือนเมษายน

ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 6.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงถึง ร้อยละ 16.83 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในไตรมาสนี้ลดลงมากถึง ร้อยละ 32.57 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.94 เนื่องจากเป็นการส่งออกเพื่อทำกำไรในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น

ด้านการนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 4.94 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าเพชร เงิน และแพลทินัม เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.10 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 45.45 เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงถึง ร้อยละ 51.12 จากการคาดการณ์ว่าราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2557 คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลจากฐานตัวเลขที่ต่ำในปีที่ผ่านมา

แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2557 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาทองคำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก เครื่องประดับแท้ทำด้วยทองได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าไทยที่อาจทำให้การขยายตัวไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่มีแนวโน้มขยายตัว จากราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

แนวโน้มการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2557 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เพชร พลอย และทองคำยังไม่ขึ้นรูป เพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงปลายปี

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ