สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2557 (กรกฎาคม – กันยายน 2557)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 5, 2015 16:35 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 3 ปี 2557 เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจหดตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ 101.4 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 อยู่ที่ 106.3 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลง สำหรับราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม (ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557) อยู่ที่ 78.7 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากข่าวลือเรื่องไฟไหม้ท่อส่งน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.5 แต่ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 คือ การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศและอุปสงค์ต่างประเทศ โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสินค้ากึ่งคงทน ไม่คงทน และบริการสุทธิยังคงขยายตัว ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิขยายตัว สำหรับการนำเข้าสินค้าหดตัวต่อเนื่อง

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 หดตัวร้อยละ 1.6 หดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 2.7 และหดตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 1.1 โดยเป็นผลมาจากความต้องการภายในประเทศและต่างประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมวัตถุดิบปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากฐานการผลิตปีที่แล้วต่ำ และความต้องการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมเบาลดลงตามการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายที่ลดลง สำหรับอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยีลดลง ตามการผลิตยานยนต์ที่ยังคงลดลง จากความต้องการในประเทศที่ลดลง แต่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เริ่มกลับมาขยายตัวตามความต้องการจากตลาดต่างประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.0 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 การส่งออกกลับมาหดตัวลงอีกครั้ง สำหรับการนำเข้ายังคงมีมูลค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ระดับการหดตัวลดลง โดยในไตรมาสที่ 3 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 117,258.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 57,752.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 59,506.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 นั้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.23 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.47 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 นี้ กลับมาขาดดุลการค้าอีกครั้ง โดยมีมูลค่า 1,754.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.80 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.31

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีมูลค่ารวม 77,595.8 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 50,516.9 ล้านบาท สำหรับเดือน

สิงหาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 27,078.9 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 17,433.9 ล้านบาท และในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 16,436.1 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 23.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการ

ลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 453 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 483 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 243,200 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนใน ไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 138 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 75,600 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 119 โครงการ เป็นเงินลงทุน 58,500 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 196 โครงการ เป็นเงินลงทุน 109,100 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 90,200 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 62,300 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรม และผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 31,800 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 103 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 30,624 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 8 โครงการ มีเงินลงทุน 12,971 ล้านบาท ประเทศสิงคโปร์มีจำนวน 20 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 7,743 ล้านบาท และประเทศฮ่องกงมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 6 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 3,210 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีประมาณ 1,917,103 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.88 สำหรับความต้องการใช้ในประเทศ มีประมาณ 4,535,612 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.70 มูลค่าการนำเข้าประมาณ 71,888 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 23.71 มูลค่าการส่งออกประมาณ 7,111 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 8.04

          แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในไตรมาส 4/2557 คาดการณ์ว่าในส่วนการผลิตจะทรงตัวอยู่ เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างสูงขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐซึ่งปัจจุบันยังไม่อยู่ในช่วงการก่อสร้าง  ขณะที่ โครงการภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่  เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์     นอกจากนี้  ยังมีปัจจัยที่พึงระวังเกี่ยวกับการนำเข้าเหล็กเส้นก่อสร้างจากจีน  ซึ่งในอดีตยังไม่มีการนำเข้ามาก่อน  ถ้าภาครัฐยังไม่มีมาตรการชัดเจนอาจทำให้มีการนำเข้าเหล็กดังกล่าว    และส่งผลต่อผู้ผลิตเหล็กเส้นในประเทศได้

          ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557    (ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 456,435 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณ  การผลิตรถยนต์ 589,299 คัน ร้อยละ 22.55 โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 177,180 คัน รถยนต์ปิกอัพ               1 ตันและอนุพันธ์  274,066 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ  5,189 คัน ลดลงร้อยละ 31.52, 13.13 และ 65.55 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 มีปริมาณการผลิตหดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง และการปรับตัวสู่สมดุลหลังสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก สำหรับการส่งออกรถยนต์หดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เนื่องจากเป็นฤดูกาลขายรถยนต์ ทำให้บริษัทรถยนต์แต่ละค่ายจัดส่งเสริมการตลาดประกอบกับการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศ โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 550,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 46 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 54

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 286.40 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีความต้องการนำไปใช้ในอุปกรณ์สื่อสารมากขึ้น ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 3.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลง และผู้บริโภคมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

ในไตรมาส 4/2557 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.98 เนื่องจากความต้องการ Semiconductor และ IC เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

เคมีภัณฑ์การส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 มีมูลค่ารวม 66,743 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเครื่องสำอาง คิดเป็นประมาณร้อยละ 36.76 และ 23.47 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 มีมูลค่ารวม 119,958 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด และปุ๋ยเคมี คิดเป็นประมาณร้อยละ 27.85 19.92 และ 15.97 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมีมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก

แนวโน้มไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะมีสถานะที่ดีขึ้น เนื่องจากการส่งออกของไทยทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในตลาดที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รวมถึงตลาดอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการนำเข้าเคมีภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวนอยู่

พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 3 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.93 และดัชนีส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.10 ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาส 3 มีการส่งออกไปยังตลาดหลักมีการส่งออกเพิ่มขึ้น และการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงเร่งผลิตและส่งสินค้าสนองกับความต้องการของผู้บริโภค

แนวโน้มใน ปี 2557 ประเทศไทย หลังจากตั้งรัฐบาลคณะใหม่ และการบริหารงาน ทำให้ประชาชนเริ่มมีความมั่นใจในการบริโภคเพิ่มขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการหมุนเวียนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ยังคงจะต้องติดตามเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะทางด้านฝั่งยุโรปที่ยังคงชะลอเรื่องการอัดฉีดเงินเข้าระบบเนื่องจากรัฐบาลพิจารณาว่าเห็นควรที่จะนำเงินเข้าไปซื้อสินเชื่อที่มีปัญหาหรือไม่ และทางฝั่งสหรัฐอเมริกา มาตรการ QE3 ก็จะหมดลงในเดือนตุลาคม หากเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งพอ ก็จะไม่มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ อุตสาหกรรรม เช่น การผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิตในช่วงปลายปีอาจจะมีการปรับราคาลง เนื่องจากความต้องการที่ลดลง น่าจะส่งผลดีต่อราคาเม็ดพลาสติกที่จะลดลงตาม

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าเกิดจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตในประเทศ ทำให้ลดการนำเข้าจากต่างประเทศลง รวมทั้งประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมีการขยายกำลังการผลิตโดยเฉพาะประเทศจีน ได้เริ่มเปิดดำเนินการไปบ้างแล้ว ทำให้ลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากไทยลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริการวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2557 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2556 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาวะทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อม โดยการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก และลดความเสี่ยงโดยการร่วมทุน /บุกเบิกตลาดในประเทศกำลังพัฒนาใหม่ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม (กลุ่มประเทศ CLMV) เป็นต้น

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.28 1.99 3.19 และ 1.90 ตามลำดับ เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศมีมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตเพื่อรองรับเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปี สำหรับเยื่อกระดาษ มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 6.90 เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกมีการผลิตเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นและยังมีปริมาณสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ประกอบกับการส่งออกเยื่อกระดาษในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลง

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2557 คาดว่า จะขยายตัว โดยภาคการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน จะยังคงมีดัชนีผลผลิตลดลง เนื่องจากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากต่างประเทศซึ่งราคาต่ำกว่า มาทดแทนกระดาษที่ผลิตภายในประเทศ

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2557 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 41.39 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์มีปริมาณ 1.93 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12 และ 16.97 ตามลำดับ ซึ่งเกิดจากการผลิตเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการขยายตัวของโครงการก่อสร้างที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว สำหรับการผลิตเซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 2.95 และ 3.50 ตามลำดับ จากการที่กำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัดลดลงจากราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2557 ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้นหลังจากไม่มีปัญหาทางด้านการเมืองแล้ว รวมทั้งความต้องการของตลาดส่งออก ไตรมมาส 4 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวของตลาดอาเซียน

ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสนี้ค่อนข้างทรงตัว โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศในภาพรวมไม่ได้ลดน้อยลง และภาคก่อสร้างของไทยยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะโครงการขยายเส้นทางรถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน โดยเฉพาะในธุรกิจที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดมิเนียม) ตามบริเวณแนวรถไฟฟ้าต่อไป

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มสิ่งทอ สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 3 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม จากคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน และตลาดสหภาพยุโรปที่มีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก และการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากในผลิตภัณฑ์ประเภทชุดกีฬา เพื่อรองรับการแข่งขันในกีฬาประเภทต่าง ๆ เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการตัดเย็บ และคุณภาพวัตถุดิบผ้าที่ได้มาตรฐานสากล

ไตรมาส 4 ปี 2557 คาดว่า ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย จะเข้าสู่ทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าของไทย โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าหลายรายเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้นำเข้าบางรายเริ่มมีคำสั่งซื้อกับประเทศคู่แข่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากกลุ่มสินค้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตในหลายประเทศในอาเซียนและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกับไทย ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทดแทนได้

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีปริมาณการผลิต 1.98 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.39 และ 1.02 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการเครื่องเรือนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และรองรับความต้องการของตลาดส่งออก การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการขยายตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเนื่องต่อความต้องการเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ยา ไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 มีปริมาณการผลิตยาในประเทศทั้งสิ้นรวม 6,903.66 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ 1.77 ในภาพรวมอุตสาหกรรมยามีการขยายตัวที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐจำกัดงบประมาณในการเบิกจ่ายสวัสดิการสำหรับการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งกำหนดให้สามารถเบิกจ่ายได้เฉพาะค่ายาที่มีราคาถูกที่สุดในชนิดยาเดียวกันเท่านั้น ทำให้ต้องมีการผลิตยาชื่อสามัญในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาแพงมากขึ้น

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยาในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและระเบียบในการขึ้นทะเบียนยาที่มีข้อกำหนดในการควบคุมราคาจำหน่ายยาบางชนิดในประเทศเวียดนามซึ่งถูกปรับเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อภาพรวมของการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในระยะต่อไป เนื่องจากเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทย

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 และภาพรวมในช่วง 9 เดือน อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ หรือจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปจำนวนมากในปีก่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ชะลอตัวลงตามไปด้วย สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงมือตรวจเริ่มฟื้นตัวตามการส่งออก

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 อุตสาหกรรมยางล้อในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ แต่ในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ไตรมาส 3 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอกปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า อีกทั้งสินค้าปลายน้ำ เช่น เบาะรถยนต์ ชะลอตัวตามการบริโภครถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่เกิดจากปัญหาโครงการรถยนต์คันแรก และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง สำหรับการผลิตกระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก การผลิตรองเท้ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากยอดขายรองเท้าในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น จากช่วงก่อนหน้าที่กำลังซื้ออยู่ในภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2557 คาดว่า การผลิตและการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้า จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน นอกจากนี้อาจมีปัจจัยจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่มีศักยภาพมากกว่าไทย ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมในระยะต่อไป

อัญมณีและเครื่องประดับ การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ไตรมาส 3 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.92 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลต่อดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.06 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.46 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 22.70 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปรวมถึงเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น ทำให้คำสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 22.03 จากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทำให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง

การผลิตอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2557 คาดว่า จะขยายตัวเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่วนภาพรวมการส่งออก ไตรมาส 4 ปี 2557 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ การส่งออกเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับราคาทองคำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 6 ปี อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง คือ การที่อัตราดอกเบี้ยในหลาย ๆ ประเทศยังอยู่ที่ระดับต่ำจะเป็นการจูงใจให้เกิดการลงทุนมากกว่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งอาจทำให้การบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไม่ขยายตัวมากนัก

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม อยู่ในช่วงปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 22.91 หากไม่นับรวมการผลิตน้ำตาลที่เป็นนอกฤดูการหีบอ้อยที่ส่งผลให้การผลิตชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่รวมการผลิตน้ำตาลแล้ว พบว่า การผลิตในภาพรวมลดลงร้อยละ 8.22 ตามคำสั่งซื้อที่ปรับชะลอตัว ส่วนการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเกิดจากการยกเลิกการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักยังซบเซา

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 คาดว่า จะขยายตัวตามฤดูกาลการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าปริมาณวัตถุดิบบางชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบเสียหายจากโรคตายด่วนในลูกกุ้ง แต่ได้เริ่มแก้ไขปัญหาและกลับมาผลิตได้เพิ่มขึ้น สำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ประกอบกับสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลและข่าวความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-สหภาพยุโรป และความรุนแรงของการก่อการร้าย และสถานการณ์การระบาดของโรคอีโบล่าในแอฟริกา แม้ว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่ทำให้สภาพเศรษฐกิจของโลกยังคงตึงตัวต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ