สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2557 (กรกฎาคม – กันยายน 2557)(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2015 15:49 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อ ส่วนหนึ่งชะลอตัวตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากชะลอตัวลงในช่วงต้นปี เนื่องจากตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทดแทนความต้องการที่ลดลงของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.10 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณผลผลิตยังทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก และภาพรวมในช่วง 9 เดือน ปริมาณผลผลิตลดลงร้อยละ 2.63

ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์ยางล้อ ประกอบด้วย ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยังทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส เดียวกันของปีก่อน และภาพรวมในช่วง 9 เดือนปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางนอกรถยนต์นั่ง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 10.48 ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ และจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปเป็นจำนวนมาก

สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 4.06 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และภาพรวมในช่วง 9 เดือน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.32 และ 15.48 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.24 และ 14.82 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับในช่วง 9 เดือน ลดลง ร้อยละ 5.54 สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและในภาพรวม 9 เดือน ปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ การชะลอตัวของภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศเนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนชะลอการบริโภคและชะลอการลงทุนออกไป โดยเฉพาะยางนอกรถยนต์นั่ง ที่ได้รับผลกระทบทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ และจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ในภาพรวมช่วง 9 เดือน ยังคงขยายตัวได้ ตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 1,322.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.74 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 9 เดือน มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น ลดลงร้อยละ 24.72 และ 20.15 ตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย โดยตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 2,061.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.83 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 9 เดือนมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.20 และ 5.36 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากชะลอตัวลงในช่วงต้นปีเนื่องจากตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทดแทนความต้องการที่ลดลงของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 การนำเข้ายางและเศษยาง มีมูลค่า 279.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 4.42 แต่เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและในช่วง 9 เดือน มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.88 และ 10.34 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 297.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.06 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 9 เดือน ลดลงร้อยละ 6.20 และ 9.94 ตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์ยางนำเข้าที่สำคัญ คือ ยางสังเคราะห์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยางรถยนต์ ในภาพรวมปรับตัวลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมยางรถยนต์ชะลอตัวตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ และจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

ราคาสินค้า

ราคายางยังคงปรับตัวลดลง เนื่องจากสต๊อกยางพาราของประเทศจีนยังมีอยู่จำนวนมาก ทำให้จีนยังคงชะลอการสั่งซื้อออกไป

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย และโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

2. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557 และวันที่ 21 ต.ค. 2557 ตามลำดับ เห็นชอบการดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิม หรือที่ตั้งใหม่ ให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อยางส่วนเกินออกจากระบบ ในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 และภาพรวมในช่วง 9 เดือน อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ หรือจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปจำนวนมากในปีก่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ชะลอตัวลงตามไปด้วย สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงมือตรวจเริ่มฟื้นตัวตามการส่งออก

ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากชะลอตัวลงในช่วงต้นปี เนื่องจากตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทดแทนความต้องการที่ลดลงของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

แนวโน้ม

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 อุตสาหกรรมยางล้อในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ แต่ในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ราคายางยังคงปรับตัวลดลง เนื่องจากสต๊อกยางพาราของประเทศจีนยัง มีอยู่จำนวนมาก ทำให้จีนยังคงชะลอการสั่งซื้อออกไป

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ