สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2557)(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 22, 2015 16:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight

สถานการณ์เหล็กไทยในปี 2557 ประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งในเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและจากการที่จีนประสบปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตที่ชะลอตัว ในขณะที่ปริมาณการผลิตของประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้จีนเกิดปัญหาการผลิตส่วนเกิน จึงทำให้ผู้ผลิตจีนส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลจีนมีนโยบายที่เอื้อด้วยการกำหนดนโยบายสนับสนุนผู้ส่งออกด้วยนโยบายคืนภาษีส่งออก จึงทำให้สินค้าเหล็กจากจีนเข้ามายังตลาดไทยมากขึ้น การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีการปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการผลิต 1,529,049 เมตริกตัน โดยเหล็กทรงยาว ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.43 เหล็กทรงแบน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.29 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 7.24 แต่เหล็กแผ่นเคลือบปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.18 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.38 เนื่องจากคำสั่งซื้อของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อบรรจุอาหาร เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ที่มีความต้องการขยายตัวมากขึ้น

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าปี 2557 มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.74 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปริมาณการผลิต 6,794,004 เมตริกตัน โดยเหล็กทรงยาว ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.50 เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในช่วงปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชนและภาคครัวเรือนลดลง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เหตุการณ์การเมืองจะเริ่มคลี่คลายในช่วงประมาณกลางปีและมีรัฐบาลบริหารประเทศในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2557 แล้วนั้น การลงทุนก่อสร้างโครงการของภาครัฐที่จะกระตุ้นให้การผลิตเหล็กทรงยาวสูงขึ้นก็ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะเกิดประมาณปลายปี 2558 ในส่วนของการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงทรงตัวอยู่ สะท้อนจากเครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ซึ่งรวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2557 เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลง ร้อยละ 21.8 สำหรับเหล็กทรงแบน ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.35 โดยเหล็กแผ่นเคลือบปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.39 (เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.64 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.85) เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.33 แต่เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.08 รายละเอียดตามตารางที่ 1

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีประมาณ 4,494,608 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.28 และ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.58

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2557 มีประมาณ 17,338,507 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 2.21 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง คือ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 5.08 แต่เหล็กทรงยาวกลับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.46

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาส 4 ปี 2557 มีจำนวนประมาณ 6,120 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออก ลดลง ร้อยละ 23.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย, ลาว และไต้หวัน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 50.00 รองลงมาคือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 35.79 โดยเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 53.29 เหล็กลวด (LC/HC) ลดลง ร้อยละ 51.96 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 17.12 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 48.00 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 29.17 ท่อเหล็ก ลดลง ร้อยละ 11.02 ยกเว้นเหล็กแผ่นเคลือบที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.36 โดยส่งออกไปยังประเทศเวียดนามและลาว เพิ่มมากขึ้น

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญใน ปี 2557 มีจำนวนประมาณ 29,220 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออก ลดลง ร้อยละ 8.34 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ลาว, มาเลเซียและสิงคโปร์ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 35.57 รองลงมาคือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 8.66 โดยเหล็กลวด (LC/HC) ลดลง ร้อยละ 27.65 เหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 11.06 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 1.69 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 23.19 ท่อเหล็ก ลดลง ร้อยละ 14.45 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 10.73 ยกเว้นเหล็กแผ่นเคลือบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.17 ซึ่งส่งออกไปยังประเทศลาว, อัฟริกาใต้และบังคลาเทศ เพิ่มมากขึ้น รายละเอียดตามตารางที่ 2

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีจำนวนประมาณ 71,728 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น,จีนและสาธารณรัฐเกาหลี ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.59 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.07 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.16 สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.17 โดยเหล็กเส้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.80

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2557 มีจำนวนประมาณ 273,970 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 15.35 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยประเทศนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น, จีนและสาธารณรัฐเกาหลี ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 20.79 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 38.79 (เหล็กแผ่นหนา ลดลง ร้อยละ 85.30, เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 22.13 ) เนื่องจากความต้องการใช้ที่ชะลอลงของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบ ลดลง ร้อยละ 9.72 สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.00 โดยโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (HR section (H/L)) ลดลง ร้อยละ 9.51รายละเอียดตามตารางที่ 3 นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1.กระทรวงพาณิชย์ประกาศเปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ เหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่เจือธาตุอื่น เหล็กลวดคาร์บอนสำหรับงานย้ำหัวและงานทุบขึ้นรูปเย็น และเหล็กลวดคาร์บอนสำหรับงานย้ำหัวและงานทุบขึ้นรูปเย็นที่เจือธาตุอื่น ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยประกาศไต่สวนเมื่อเดือนมกราคม 2558

2. กระทรวงพาณิชย์ประกาศการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนสูงรวมถึงเหล็กลวดคาร์บอนสูงที่เจือธาตุอื่น ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเรียกเก็บในอัตรา ร้อยละ 16.14- 33.98 ของราคา CIF เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาส 4/2557 มีปริมาณการผลิต 1,529,049 เมตริกตัน ตามลำดับ ลดลง ร้อยละ 1.82 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลจากการลดลงของเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 7.24 แต่เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อจนถึงช่วงต้นปี 2557 และเริ่มคลี่คลายในประมาณกลางปี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในช่วงครึ่งปีแรกลดลง สำหรับการจำหน่ายในประเทศไตรมาส 4/2557 มีปริมาณ 2,842,070 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.04 โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.87 แต่เหล็กทรงยาวทรงตัว ร้อยละ 0.72 การนำเข้าไตรมาส 4/ 2557 มีปริมาณ 71,728 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.34 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.07 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.16

แนวโน้ม

คาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล็กในปี 2558 ในส่วนการผลิตจะทรงตัว คือ 6.79 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่ในช่วง 0-3% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กสูงขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เนื่องจากการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพเย์

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ