สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2557)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 14:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 11.82 และ13.40 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และการส่งออกขยายตัว จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวขึ้นบ้างหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ต่างประเทศและเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากความรุนแรงในยูเครนที่ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งของสหภาพยุโรปและรัสเซีย ส่วนสหรัฐอเมริกา ต้องติดตามผลจากการปรับระดับการค้ามนุษย์ในประเทศไทยลงเป็นระดับต่ำสุด ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับลดระดับการค้าจนถึงขั้นระงับการนำเข้าสินค้า แต่เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ประกาศระงับการค้ากับไทย ทำให้สถานการณ์ตึงตัวของการส่งออกผ่อนคลายลงได้ สำหรับในประเทศจากการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มมีทิศทางดีขึ้นจากการมีคณะรัฐมนตรี ส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการบริโภคหลังจากชะลอไว้ในช่วงครึ่งปีแรก

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 11.82 และ 13.40 โดยทั้งปี 2557 การผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.51 ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าเริ่มดีขึ้น และตลาดในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น (ตารางที่ 1) สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปประมง ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.09 และ 7.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน และตลอดทั้งปี 2557 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.97 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งเริ่มแก้ไขและควบคุมได้ ทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตปลาทูน่ากระป๋องปรับลดลงจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้มีการนำเข้าปลาทูน่ามาสต็อกและผลิตลดลง

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.49 และ 2.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน และตลอดทั้งปี 2557 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.76 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการผลิต ประกอบกับการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ และจากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น ทดแทนจากจีนที่ประสบปัญหาไข้หวัดนกรอบใหม่ในช่วงครึ่งปีแรก และไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 1.31 และ 51.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง โดยตลอดทั้งปี 2557 การผลิตปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 16.11

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 6.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 4.52 และตลอดทั้งปี 2557 ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 0.12 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผลผลิตวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลงโดยเฉพาะสับปะรด เนื่องจากมีการลดพื้นที่ปลูกสืบเนื่องจากราคาตกต่ำในช่วงปีก่อน และมีการนำพื้นที่ไปทำกิจกรรมอื่น

กลุ่มน้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.03 และ 260.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน และตลอดทั้งปี 2557 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.32 ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.14 และ 14.61 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ ไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง โดยทั้งปีการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 1.19 จากปีก่อน สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ลดลงร้อยละ 25.29 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64 จากไตรมาสก่อน นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.60 และ 4.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของการเลี้ยงไก่ ตามความต้องการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความต้องการอาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้นทดแทนกุ้งและสุกรที่ราคาสูงขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่า แม้ว่าราคาในตลาดโลกจะสูงขึ้นไม่มากนัก

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ(ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.95 และ 2.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้น เมื่อปัจจัยการเมืองที่การชุมนุมทางการเมืองคลี่คลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเปรียบเทียบลดลง ประกอบกับการปรับขึ้นของราคาสินค้าโดยเฉพาะในสินค้าปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์นมและผักผลไม้จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน ค่าจ้าง และปัจจัยการผลิต จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงจับจ่ายใช้สอยไม่ต่างจากกับปีก่อนมากนัก สำหรับการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.65 และ 21.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน และตลอดทั้งปี 2557 การจำหน่ายลดลงร้อยละ 7.25 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการลดทำการส่งเสริมการตลาดของเครื่องดื่มอัดลมและชาพร้อมดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสม ทำให้การจำหน่ายลดลง ส่วนอาหารสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.79 และ 5.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน และตลอดทั้งปีการจำหน่ายอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.65 จากปีก่อน เนื่องจากได้รับผลดีจากการเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 240,106.35 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.53 และ 2.77 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ ไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไก่ ประมง ข้าวและธัญพืช และน้ำตาล เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักบางแห่งมีสัญญาณที่ฟื้นตัว ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในบางกลุ่มสินค้า ขณะที่ทั้งปี 2557 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 11.19 โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม 206,509.77 ล้านบาทปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.35 และ 7.74 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลแปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ทั้งปี 2557 ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 1.55 เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาแม้จะเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่ยังคงประสบปัญหากำลังซื้อที่ยังเติบโตได้ไม่มากนัก ขณะที่ทูน่ากระป๋องมีความต้องการชะลอตัว นอกจากนี้ปริมาณผลผลิตกุ้งมีปริมาณลดลงจากเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งในเกือบทั้งปี และส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมปี 2557 ปรับชะลอตัวลงเล็กน้อย

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม 23,162.07 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.32 และ 29.10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ขณะที่ทั้งปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 115,386.31 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17.50 จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.03 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรป และจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปีก่อน

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม 24,977.74 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.56 และ 3.66 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ขณะที่ทั้งปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 92,135.50 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 15.95 เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปและไก่แช่เย็นแช่แข็งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม 98,052.64 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.57 และ 13.33 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ขณะที่ทั้งปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 342,285.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 23.96 โดยเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม โดยที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าร้อยละ 20 เป็นการส่งออกไปประเทศจีนเป็นหลัก และจากการส่งออกข้าว จากการได้อานิสงค์จากประเทศอินเดียประสบภัยแล้งมีข้าวออกสู่ตลาดลดลง

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม23,133.54 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 101.85 และ 3.22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ ไตรมาสก่อน ขณะที่ทั้งปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 89,240.65 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ปีก่อนร้อยละ 2.34 แม้ว่าประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ราคาในตลาดโลกชะลอตัวลงจากปีก่อน แต่จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน และญี่ปุ่น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม 14,224.69 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.90 และ 7.84 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ขณะที่ทั้งปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 64,007.39 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 4.80 โดยเป็นผลจากการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าประเภทซุปและอาหารปรุงแต่ง หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม น้ำมันและไขมันจากพืช

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 97,186.81 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 และ 2.52 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ในช่วงปี 2557 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม 377,313.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.18 (ตารางที่ 4) โดยเป็นนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น คือ เมล็ดพืชน้ำมันและกากพืชน้ำมัน ร้อยละ 9.30 และ 14.73 เพื่อนำมาใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมน้ำมันพืชและอาหารสัตว์ที่มีการขยายตัว ส่วนวัตถุดิบที่นำเข้าลดลง คือ ปลาทูน่าแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 25.53 เนื่องจากต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อบริโภค เช่น นมและผลิตภัณฑ์ มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.93 เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารหากไม่นับรวมการผลิตน้ำตาลอยู่ในช่วงปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.14 หากรวมน้ำตาล การผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 11.82 ส่วนการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเกิดจากการยกเลิกการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักที่ซบเซาเริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้สินค้าน้ำตาลทราย แม้ว่าสต็อกที่คาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น และผลจากที่ประเทศอินเดีย และบราซิลมีผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ปรับชะลอตัวลง ส่วนการผลิตน้ำตาลของไทยคาดว่าจะได้รับกระทบจากภัยแล้งทำให้คุณภาพอ้อยเข้าหีบแย่ลง สำหรับสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ ปริมาณความต้องการสินค้าไก่แปรรูปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ส่งผลต่อการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งของไทยเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้ามันสำปะหลังยังคงส่งออกเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าจากจีนที่ปรับตัวดีขึ้น

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2558 คาดว่า ในภาพรวมการผลิตจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0-5 ในระดับเดียวกันของปี 2557 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ -2.5-2.5 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวขึ้นบ้างหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ต่างประเทศและเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากความรุนแรงในยูเครนที่ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งของสหภาพยุโรปและรัสเซีย ส่วนสหรัฐอเมริกา ต้องติดตามผลจากการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่อาจส่งผลให้กำลังซื้อลดลง และติดตามระดับความรุนแรงของ การก่อการร้ายในประเทศต่างๆ ที่ตามมาภายหลังจากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ประกาศ ทำสงครามกับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง IS สำหรับในประเทศจากการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เริ่มมีทิศทางดีขึ้นจากการมีคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศมาตรการกระตุ้น การใช้จ่าย ส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการบริโภคมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ