สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (มกราคม - มีนาคม 2558)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2015 15:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2558 การผลิตอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการนำเข้ากระดาษราคาถูกจากต่างประเทศ ประกอบกับการส่งออกที่ชะลอตัวในส่วนการส่งออกภาพรวมมีมูลค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเติบโตอย่างชะลอตัว สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าเยื่อใยยาวจำพวกไม้สน

การผลิต

ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 4.75 4.14 และ 3.94 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เนื่องจากความต้องการกระดาษ และบรรจุภัณฑ์กระดาษค่อนข้างทรงตัว ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังมีเพียงพอต่อความต้องการ ทำให้การผลิตเยื่อกระดาษลดลง สำหรับกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.83 และ 9.82 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวเพิ่มขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.70 สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ 0.03 0.25 1.08 2.15 เป็นผลมาจากแนวโน้มการส่งออกและการบริโภคในประเทศลดลงจากไตรมาสก่อน ทำให้ผู้ผลิตชะลอการผลิตกระดาษลง

ไตรมาส 1 ปี 2558 มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ หรือกระดาษ ขยายกิจการ จำนวน 2 แห่ง โรงงานผลิตภาชนะบรรจุจากกระดาษ ขออนุญาตประกอบกิจการ 6 แห่ง และขยายกิจการ 5 แห่ง โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ ขออนุญาตประกอบกิจการ 2 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการบรรจุภัณฑ์จากกระดาษขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการขออนุญาตประกอบกิจการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษเพิ่มขึ้น แต่การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษในภาพรวมยังคงลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 40.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ลดลง ร้อยละ 3.88 (ตารางที่ 2) เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเติบโตอย่างชะลอตัว เช่น จีน อินโดนีเซีย และ ญี่ปุ่น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.58 จากการส่งออกเยื่อกระดาษรีไซเคิลไปยัง สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และไต้หวัน เพิ่มขึ้น

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 403.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.12 จากการส่งออกกระดาษคราฟท์ กระดาษแข็งและบรรจุภัณฑ์กระดาษ ไปยังตลาดบังคลาเทศ มาเลเซีย และเวียดนาม เพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 2.69 เนื่องจากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน สหภาพยุโรป ยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

3.หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 16.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 11.85 และ 19.66 ตามลำดับ โดยสิ่งพิมพ์ประเภทไปรษณียากร และไปรษณียบัตร มีมูลค่าลดลงมากที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอล ประกอบกับการลดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยของภาคครัวเรือนลง

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 171.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.10 (ตารางที่ 3) ซึ่งเป็นการนำเข้าเยื่อใยยาวจำพวกไม้สน จากประเทศแคนาดามากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเยื่อดังกล่าวมีราคาลดลง จูงใจให้ผู้ประกอบการนำเข้ามาสต็อกไว้สำหรับผลิตกระดาษต่อไป นอกจากนี้มูลค่าการนำเข้าในช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ทำให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวจากฐานที่ต่ำกว่า แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 5.99 เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบแล้วในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 384.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 3.25 และ 5.50 ตามลำดับ โดยกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษแข็ง มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้กระดาษประเภทต่าง ๆ ที่ราคาถูกจากต่างประเทศมากกว่ากระดาษที่ผลิตในประเทศไทย

3.สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 53.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 9.15 และ 3.00 โดยสิ่งพิมพ์ประเภทวารสาร นิตยสาร และไปรษณียบัตร มีมูลค่าลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอล ประกอบกับการลดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยของภาคครัวเรือน

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย ที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีขาออกไม้ยูคาลิปตัสจาก ร้อยละ 0 เป็นเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ ภายหลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไม้ยูคาลิปตัส ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากมีกลุ่มเอกชนทำการ รับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าจำหน่ายให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการที่ค่อนข้างทรงตัว ประกอบกับสินค้าคงคลังมีเพียงพอต่อความต้องการ สำหรับกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ขยายตัว และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ มีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีการผลิตลดลง เป็นผลมาจากแนวโน้มการส่งออก และการบริโภคในประเทศลดลงจากไตรมาสก่อนส่งผลให้ผู้ผลิตชะลอการผลิตกระดาษลง

การส่งออกเยื่อกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าลดลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการส่งออกเยื่อกระดาษรีไซเคิลไปยัง สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อยู่ในภาวะทรงตัว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าลดลงจากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน สหภาพยุโรป ยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย สำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอล ประกอบกับการลดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยของภาคครัวเรือนลง

การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเป็นการนำเข้าเยื่อใยยาวจำพวกไม้สนจากประเทศแคนาดาซึ่งมีราคาถูกลงมาทำการเก็บสต๊อกไว้ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าลดลง เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบแล้วในช่วงปลายปี 2557 สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้กระดาษประเภทต่าง ๆ ที่ราคาถูกจากต่างประเทศมากกว่ากระดาษที่ผลิตในประเทศไทย ในส่วนของสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าการนำเข้าลดลง จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ประเภทวารสาร นิตยสาร และไปรษณียบัตร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอล ประกอบกับการลดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยของภาคครัวเรือนลง

แนวโน้มปี 2558

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2558 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รวมถึงการส่งออก กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อาจขยายตัวได้ตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการกระตุ้นส่งออกที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับมีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์ของไทยเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์

สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ คาดว่า จะขยายตัวตามการนำเข้าเยื่อกระดาษใยยาวที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ส่วนการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะทรงตัวเนื่องจากการผลิตภายในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ ในส่วนสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะทรงตัวเช่นเดียวกัน และอาจต้องปรับตัวไปสู่สิ่งพิมพ์สร้างสรรค์เพื่อรับมือกับการเข้ามาแทนที่ของสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะในธุรกิจพิมพ์เขียน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ