สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (มกราคม - มีนาคม 2558)(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2015 16:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.83 และ 5.90 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น พลอย และเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมลดลง ร้อยละ 9.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากปีก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.72 เป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยในไตรมาสนี้ปรับตัวสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 1) ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 20.29 และดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงเช่นกัน ร้อยละ 25.11 เนื่องจากคำสั่งซื้อเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 9.53 เป็นผลจากการส่งออกโดยใช้สต๊อกสินค้าที่มีจำนวนมาก และหากเทียบกับไตรมาสก่อน ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 2.90 สำหรับดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 5.62 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 0.45 เป็นผลจากการส่งออกโดยใช้สต๊อกสินค้า

จำนวนโรงงานที่เปิดและปิดกิจการ

ไตรมาส 1 ปี 2558 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ จำนวน 4 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 129.72 ล้านบาท และมีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการแล้ว จำนวน 4 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 222.81 ล้านบาท โดยไม่มีโรงงานที่เลิกประกอบกิจการในช่วงไตรมาสนี้

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (ตารางที่ 2) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,921.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น พลอย และเครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมลดลง ร้อยละ 9.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง ร้อยละ 31.81 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

1. อัญมณี ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 797.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกพลอยเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.50 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 46.95 13.37 และ 9.31 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญมี ดังนี้

1.1 เพชร ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 466.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเพชรมีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าลดลง ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.45 ตามการขยายตัวในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 41.17 22.57 และ 9.89 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 325.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.07 และ 84.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการในตลาดส่งออกสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 54.38 15.23 และ 7.86 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 959.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 8.04 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 23.63 23.06 และ 13.76 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้

2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 371.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.27 และ 23.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามลำดับ เนื่องจากได้มีการส่งมอบสินค้าจากสต๊อกจำนวนมากช่วงปลายปีไปแล้ว โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.54 25.57 และ 5.33 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 511.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.69 และ 5.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามลำดับ เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปปรับตัวลดลงด้วย จูงใจให้เกิดความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 34.97 14.07 และ 13.15 ตามลำดับ

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 105.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 13.29 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 41.26 16.13 และ 13.49 ตามลำดับ

4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 25.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 28.72 และ 2.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามลำดับ เนื่องจากอัญมณีสังเคราะห์ในตลาดโลกมีราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการลดลง โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และออสเตรีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 44.54 17.46 และ 13.87 ตามลำดับ

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 818.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 31.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 59.54 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยในไตรมาสนี้ปรับตัวสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ กัมพูชา และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 32.14 30.66 และ 17.28 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ไตรมาส 1 ปี 2558 (ตารางที่ 3 ) มีมูลค่าการนำเข้า 571.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 2.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.27 เนื่องจากมีการนำเข้าเพชร พลอย และเงิน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาเพชรและพลอยในตลาดโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมอยู่ที่ 2,795.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 64.81 และ 25.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามลำดับ เนื่องจากทองคำมีราคาลดลง จูงใจให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนวัตถุดิบนำเข้าสำคัญ ประกอบด้วย

1.1 เพชร ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 208.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 25.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาเพชรในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมากส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าลดลง แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.42 เนื่องจากเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ ประกอบกับราคาเพชรได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เบลเยี่ยม อินเดีย และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 35.35 21.74 และ 12.87 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 136.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 75.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นการปรับตัวจากฐานที่ต่ำ และหากเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 94.96 เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบพลอยในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยวัตถุดิบที่ใช้ผลิตในช่วงเทศกาลก่อนหน้า โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 36.51 9.83 และ 9.29 ตามลำดับ

1.3 ทองคำ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 2,223.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 100.12 และ 27.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามลำดับ เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จูงใจให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 29.62 15.76 และ 14.06 ตามลำดับ

1.4 เงิน ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 140.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่หากเทียบกับ ไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.76 เนื่องจากเงินในตลาดโลกมีราคาลดลง จูงใจให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ จีน และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 28.52 24.07 และ 18.10 ตามลำดับ

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 32.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 5.53 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรีย และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 36.59 19.77 และ 9.89 ตามลำดับ

ทั้งนี้ การนำเข้าเพชร พลอย ทองคำ เงิน โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 98.10 ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด

2. เครื่องประดับอัญมณี ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าทั้งสิ้น 176.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.60 และ 4.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน เป็นผลจากการนำเข้าเครื่องประดับอัญมณีแท้ และเครื่องประดับอัญมณีเทียมเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 161.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.39 เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.99 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และอิตาลี คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 11.88 10.94 และ 4.32 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 15.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.77 และ 11.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าเครื่องประดับอัญมณีเทียมเป็นการชั่วคราว โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และอิตาลี คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 29.30 13.21 และ 9.19 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคประมาณ 600 ล้านคนทั่วอาเซียน โดยจะดำเนินงาน 3 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับ AEC การพัฒนาบุคลากร การปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงรุกสู่ตลาด AEC รวมทั้งนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจ และทดลองตลาดในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอาเซียน+3 (2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคและการจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่น และการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดสายกระบวนการผลิต และ (3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 1,890 ราย/ปี

สรุปและแนวโน้ม
สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2558 ด้านการ ผลิตและการจำหน่ายหดตัว ร้อยละ 2.90 และ 5.62 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งมอบสินค้าในช่วงเทศกาลก่อนหน้า ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจภายในชะลอตัว ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยลง

ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.90 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกพลอย และเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองเพิ่มขึ้น ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 9.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงมากถึง ร้อยละ 31.81 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยได้ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับ ไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.72 เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มมากถึง ร้อยละ 59.54 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา

ด้านการนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 2.26 เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.27 เนื่องจากมีการนำเข้าเพชร พลอย และเงิน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาเพชรและพลอยในตลาดโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 64.81 เนื่องจากมีการขยายตัวของการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปถึง ร้อยละ 100.12 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2558 คาดว่า จะทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจภายในที่ชะลอตัว ประกอบกับคำสั่งซื้อเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่า จะลดลงตามการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่ระดับราคายังอยู่ในระดับต่ำ

การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะทรงตัวสอดคล้องกับการส่งออกที่ทรงตัว ด้านการนำเข้าในภาพรวม คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่จะเพิ่มขึ้นตามระดับราคาทองคำเฉลี่ยที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ