สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558)(อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 17:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังไตรมาส 2ปี 2558เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สำหรับเดินทาง โดยเฉพาะกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ และกระเป๋าใส่เศษสตางค์ และกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน โดยเฉพาะรองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ และรองเท้าหนัง สำหรับมูลค่าการส่งออกในกลุ่มผลิตภัณฑ์หนัง หนังฟอกและหนังอัด ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน และกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม

การผลิต

ไตรมาส 2 ปี 2558 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง จำแนกได้ ดังนี้

1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2558เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ2.37เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง ร้อยละ 1.32 และทำให้ระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.14แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.19 ในขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 1.01 ซึ่งเป็นผลจากการจำหน่ายสินค้าในสต๊อกทดแทน

2.การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลากดัชนีผลผลิตไตรมาส 2ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ20.36และ 1.65ตามลำดับซึ่งเป็นผลจากดัชนีการส่งสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 16.40 และ 0.68ตามลำดับจากกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในที่ชะลอตัว ประกอบกับการส่งออกในตลาดหลักยังขยายตัวไม่มากนัก จึงลดการผลิตลงทำให้ระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 15.43 และ 18.21ตามลำดับ

3. การผลิตรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2558เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา มีการผลิตลดลงร้อยละ10.56 และ 17.31 ตามลำดับส่วนหนึ่งมาจากความต้องการในประเทศลดลงและมีการผลิตสำรองไว้แล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมา สอดคล้องกับการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 11.25 และ 13.77 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ส่งผลให้ระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.27 และ 9.30 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เพื่อสต๊อกสินค้าไว้รองรับการผลิตเพื่อส่งออกไป ญี่ปุ่น จีน และประเทศกลุ่มอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศเมียนมาร์

ไตรมาส 2 ปี 2558มีโรงงานตั้ง/ประกอบกิจการฟอกหนังและหนังแต่งสำเร็จ จำนวน 2 แห่งโรงงานผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนจำนวน 4 แห่ง มีการขอขยายกิจการโรงงานผลิตหนังสัตว์และหนังเทียม จำนวน 1 แห่ง แสดงให้เห็นถึงความต้องการวัตถุดิบสำหรับผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีแนวโน้มขยายตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรองเท้าและชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม มีโรงงานขอยกเลิกกิจการ แบ่งเป็น โรงงานผลิตรองเท้า จำนวน 1 แห่ง และโรงงานฟอกหนังและตกแต่ง จำนวน 1 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจภายในที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลต่อภาคการผลิตและความต้องการบริโภคสินค้าที่ลดลง

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 2 ปี 2558อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 470.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.23 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกหนังโคกระบือฟอก เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วนไปประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น อาเซียน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และจีน ลดลงค่อนข้างมาก แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.51 ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก205.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.83 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ถุงมือหนังหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 87.693.07 และ 80.71 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอกลดลงร้อยละ 59.78 เนื่องจากความต้องการของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และ กัมพูชา ที่ต้องการสินค้าจากไทยเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำไปยังตลาดอื่นชะลอตัวลงต่อเนื่อง

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ปรับตัวลดลง ร้อยละ 3.81 ตามความต้องการของจีน และกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกถุงมือหนัง เครื่องแต่งกายและเข็มขัด หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 20.11 47.20และ 6.85 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก และของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.22 และ 82.58 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ได้แก่ เวียดนามฮ่องกง และจีน มีสัดส่วนร้อยละ 21.71 15.56และ 13.89ตามลำดับ

2. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 77.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 10.85เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่นๆ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 0.51 15.3228.80และ 4.93ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.06ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ และเครื่องเดินทางอื่น ๆเพิ่มขึ้นร้อยละ12.7410.88 และ 1.34 ตามลำดับโดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วนร้อยละ 30.83 10.53 และ 8.55 ตามลำดับ

3. รองเท้าและชิ้นส่วนไตรมาส 2 ปี 2558มีมูลค่าการส่งออก 187.96ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลง ร้อยละ8.85ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในกลุ่มรองเท้าแตะ และรองเท้าหนัง ลดลง ร้อยละ 27.16 และ 13.29ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.16 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และรองเท้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.79 15.0429.96 และ 4.19 ตามลำดับโดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเดนมาร์ก มีสัดส่วน ร้อยละ 14.91 8.80 และ 8.36 ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 2 ปี 2558 อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 339.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.37แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 9.27ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังดิบและหนังฟอกไตรมาส 2 ปี 2558มีมูลค่าการนำเข้า 170.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ4.50และ 9.50 ตามลำดับ ตามภาวะการผลิตที่ลดลงจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง โดยแหล่งนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาบราซิลและอาร์เจนตินา มีสัดส่วนร้อยละ 13.96 11.65 และ 10.51 ตามลำดับ

2. กระเป๋า ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า85.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.72ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทแข็งค่า จูงใจให้มีการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปราคาถูกจากจีนและแบนด์เนมเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 6.98 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน อิตาลี และฝรั่งเศส มีสัดส่วนร้อยละ 45.60 13.84 และ 3.83 ตามลำดับ

3. รองเท้า ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 83.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.68 ในประเภทรองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง รองเท้าทำด้วยยางหรือพลาสติก และรองเท้าอื่น ๆ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 11.09 ในประเภทผลิตภัณฑ์เดียวกัน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลีมีสัดส่วนร้อยละ 46.36 17.58 และ 9.85 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ300 บาท ทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทั้งกลยุทธ์ด้านการผลิตและการตลาดเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง การขยายหรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เป็นแนวทางหนึ่งที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง และอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่ออาศัยฐานแรงงานที่มีต้นทุนถูกกว่า

2.นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนGDP ของSMEs ที่ปัจจุบันมีจำนวน2.724 ล้านรายจากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 40ใน 10 ปีข้างหน้า และเตรียมความพร้อมให้SMEsพร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ผ่านแผนงานสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมSMEsไทยให้ก้าวสู่การเป็นSupply Chain ของอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาธุรกิจรวม600 กิจการ ผู้ประกอบการ 12,000 คน และพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน10 กลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยงบประมาณ 157 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริม

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ไตรมาส 2ปี 2558เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอกการผลิตกระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้าปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการผลิตสินค้าปลายน้ำเช่น เบาะรถยนต์ ชะลอตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโครงการรถยนต์คันแรก และหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

การส่งออกไตรมาส 2ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงในผลิตภัณฑ์ ได้แก่หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เครื่องใช้สำหรับเดินทางรองเท้าและชิ้นส่วนซึ่งเป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลงแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เครื่องใช้สำหรับเดินทาง รองเท้าและชิ้นส่วนยังขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น อาเซียน ฮ่องกง และจีน มีการขยายตัวค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัจจุบันจีนมีความพยายามย้ายโรงงานที่สร้างมลพิษมาก ๆ ออกไป ส่งผลให้โรงงานฟอกหนังปิดตัวลง ทำให้จีนสั่งซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์หนังของไทยเพิ่มมากขึ้น

การนำเข้า ไตรมาส 2ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ได้แก่ กระเป๋า และรองเท้าส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทแข็งค่า จูงใจให้มีการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปราคาถูกจากจีนและแบนด์เนมเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือย

แนวโน้ม

แนวโน้มไตรมาส 3ปี 2558 คาดว่าการผลิตและการส่งออกรองเท้า จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการสินค้าจากผลิตภัณฑ์หนังของไทย ยังเป็นที่ต้องการของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีน โดยคาดว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวในครึ่งปีหลังเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการวางกลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย อาจทำให้เครื่องหนังจำพวกกระเป๋าและรองเท้ามียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้จากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และหากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจะส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นเกิดความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคมากยิ่งขึ้นสำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และการอ่อนตัวของค่าเงินบาท อาจทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเครื่องหนังไปตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ขยายตัวได้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ