สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2558 (กรกฎาคม - กันยายน 2558)(อุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 24, 2015 14:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีประมาณ 1,929,984 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ผลิตภัณฑ์กลุ่มเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.00 ในขณะที่กลุ่มเหล็กทรงแบน มีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 8.58 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 28.09 เนื่องจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องประสบปัญหา เช่น สับปะรดกระป๋อง ประสบปัญหาภัยแล้งจึงขาดแคลนวัตถุดิบ ในขณะที่ทูน่ากระป๋อง ประสบปัญหาเนื่องจากมีการส่งออกไปยังตลาดหลักคือ สหรัฐอเมริกาที่ลดลง รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 26.30 และ เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 10.35 ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีประมาณ 5,119,181 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) ลดลง ร้อยละ 2.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้คือ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 5.18 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 15.78 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.71

ความต้องการใช้ในประเทศ

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีจำนวนประมาณ 4,717,131 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.00 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ได้แก่ผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.98 ผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มเหล็กทรงแบนลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.72 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีจำนวนประมาณ 13,037,469 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.51 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.85 ผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการใช้ลดลงได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มเหล็กทรงแบนลดลง ร้อยละ 2.02

การนำเข้า- การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีจำนวนประมาณ 1,930.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 16.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 18.52 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (HR Section (H/L)) ลดลง ร้อยละ 58.41 เหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 20.14 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 13.90 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน(HR plate) ลดลง ร้อยละ 41.02 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 26.63 เหล็กแผ่นเคลือบ Galv. Sheet (HDG) ลดลง ร้อยละ 20.60 สำหรับเหล็กผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลงลง ร้อยละ 13.77 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการ นำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.58 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Semi-finished products) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 70.04 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.34 โดย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน(HR section (H/L) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.55 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.23 สำหรับเหล็กทรงแบน มูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.10 โดยเหล็กบางแผ่นรีดร้อน (HR sheet) ร้อยละ 54.50

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีจำนวนประมาณ 5,571.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 11.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 23.32 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 10.00 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากในช่วงนี้ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน(HR Section (H/L)) ลดลง ร้อยละ 40.11 เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 6.71 โดยเหล็กแผ่นหนารีดร้อน (HR plate) ลดลง ร้อยละ 31.59 รายละเอียดตามตารางที่ 2

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีจำนวนประมาณ 149.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 36.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 26.30 โดยเหล็กลวด (Wire rod (LC/HC)) ลดลง ร้อยละ 69.91 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (HR section (H/L)) ลดลง ร้อยละ 28.12 เหล็กเส้น (Bar) ลดลง ร้อยละ 18.62 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 22.66 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากในช่วงนี้ได้แก่เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 75.38 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 63.62 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 90.21 เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 56.75 โดยเหล็กเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 64.83

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีจำนวนประมาณ 558.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 23.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 46.65 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 37.02 โดยเหล็กเส้น (Bar) ลดลง ร้อยละ 47.97 เหล็กลวด (Wire rod (LC/HC)) ลดลง ร้อยละ 42.18 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 21.04 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กรีดร้อนกัดกรดเคลือบน้ำมัน (P&O) ลดลง ร้อยละ 55.86 รายละเอียดตามตารางที่ 3

2. สรุป

การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีปริมาณ 1,929,984 เมตริกตันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 4,094,250 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.00 โดยมาจากเหล็กทรงยาวที่มีความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.98 สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีมูลค่า 1,930.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16.41 สำหรับการส่งออก มูลค่าการส่งออก ประมาณ 149.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 36.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การผลิตเหล็กของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีปริมาณ 2,900,297 เมตริกตันลดลง ร้อยละ 2.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 13,037,469 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ1.51 สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กใน 9 เดือนแรกของปี 2558 มีจำนวนประมาณ 5,571.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 11.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกมีจำนวนประมาณ 558.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23.40

3.แนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2558 คาดการณ์ว่าการผลิต จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยที่ยังคงทรงตัวอยู่ ประกอบกับราคาเหล็กในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงจึงทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าเหล็กมากกว่าที่จะใช้ที่ผลิตในประเทศโดยในส่วนของอุตสาหกรรมเหล็กทรงยาวซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมก่อสร้างคาดการณ์ว่าการผลิตจะทรงตัว เนื่องจากคาดการณ์ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะทรงตัวจากการที่คอนโดมิเนียมล้นตลาดโดยเฉพาะในส่วนที่ติดรถไฟฟ้าที่ไม่ใช่ย่านธุรกิจ สำหรับเหล็กทรงแบนซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมยานยนต์,เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกล คาดการณ์ว่าในส่วนของความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการนำเข้าไม่ใช่การผลิตในประเทศ ส่งผลให้การผลิตเหล็กทรงแบนในประเทศสำหรับไตรมาส 4 ปี 2558 ลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ