สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558)(อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2016 16:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตรองเท้า ไตรมาส 4 ปี 2558 ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานการผลิตที่สูงเมื่อปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การผลิตสินค้าในกลุ่มสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ กระเป๋า และรองเท้า เพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี

การผลิต

ไตรมาส 4 ปี 2558 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง จำแนกได้ ดังนี้

1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 9.48 และ 13.81 ตามลำดับ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 11.83 และ 10.93 ตามลำดับ จากกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในที่ชะลอตัว ประกอบกับการส่งออกในตลาดหลักยังขยายตัวไม่มากนัก จึงลดการผลิตลงทำให้ระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 26.00 และ 7.20 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการจำหน่ายสินค้าในสต๊อกทดแทน

2. การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลากดัชนีผลผลิตไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.96 และ 8.55 ตามลำดับ เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.75 และ 12.91 ตามลำดับ และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.26 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้นในช่วงปลายปี และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ลดลง ร้อยละ 2.43

3. การผลิตรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี ก่อน ลดลง ร้อยละ 5.02 ส่วนหนึ่งมาจากฐานการผลิตที่สูงเมื่อปีก่อนเพราะเร่งการผลิตและส่งออกสินค้าให้ทันก่อนการตัดสิทธิ์ GSP ในปี 2558 อีกทั้งการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงสอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้า ลดลง ร้อยละ 15.62 ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.19 แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.24 สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้า และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.35 และ 24.22 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นฤดูกาลของการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายสินค้าทั้งภายในและต่างประเทศที่จะมีมากขึ้นในช่วงปลายปีและต้นปีหน้า ซึ่งจะมีการใช้จ่ายและบริโภคค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ไตรมาส 4 ปี 2558 มีโรงงานตั้ง/ประกอบกิจการฟอกหนังและตกแต่ง จำนวน 3 แห่ง โรงงานผลิตรองเท้าและชิ้นส่วน จำนวน 1 แห่ง แสดงให้เห็นถึงความต้องการวัตถุดิบสำหรับผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีแนวโน้มขยายตัว อย่างไรก็ตาม มีโรงงานขอยกเลิกกิจการ จำนวน 7 แห่ง แบ่งเป็น โรงงานฟอกหนังและของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง จำนวน 4 แห่ง โรงงานผลิตรองเท้าและชิ้นส่วน จำนวน 2 แห่ง และ โรงงานผลิตกระเป๋าเดินทาง จำนวน 1 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจภายในที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลต่อภาคการผลิตและความต้องการบริโภคสินค้าที่ลดลง

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 4 ปี 2558 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 416.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.96 และ 3.63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วน ไปประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน ลดลง ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 187.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.76 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ถุงมือหนัง และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.82 7.12 และ 15.13 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก และเครื่องแต่งกายและเข็มขัด ปรับตัวลดลง ร้อยละ 53.25 และ 29.13 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ต้องการสินค้าจากไทยเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำไปยังตลาดอื่นชะลอตัวลงต่อเนื่อง

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.18 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ถุงมือหนัง เครื่องแต่งกายและเข็มขัด และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.89 4.37 และ 15.55 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก และของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ปรับตัวลดลง ร้อยละ 47.74 และ 25.47 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของตลาดจีน ฮ่องกง และกลุ่มประเทศอาเซียนลดลง โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง และจีน มีสัดส่วน ร้อยละ 21.20 15.29 และ 13.32 ตามลำดับ

2. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 71.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.49 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกทุกผลิตภัณฑ์มีมูลค่าลดลง ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่นๆ ร้อยละ 9.08 13.28 2.31 และ 10.51 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน ลดลง

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ปรับตัวลดลง ร้อยละ 10.83 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกทุกผลิตภัณฑ์ลดลง ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ ร้อยละ 10.40 2.60 16.62 และ 14.26 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วน ร้อยละ 30.38 11.17 และ 8.33 ตามลำดับ

3. รองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 157.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 20.23 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในทุกผลิตภัณฑ์ลดลง ได้แก่ รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง รองเท้าอื่น ๆ และส่วนประกอบรองเท้า ลดลง ร้อยละ 1.31 34.52 26.46 7.36 และ 17.06 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 7.48 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ และรองเท้าหนัง ลดลง ร้อยละ 25.94 17.80 และ 22.49 ตามลำดับ สำหรับรองเท้าอื่น ๆ และส่วนประกอบของรองเท้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.46 และ 8.98 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเดนมาร์ก มีสัดส่วน ร้อยละ 15.22 8.33 และ 8.23 ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 4 ปี 2558 อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 337.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 4.90 และ 8.08 ตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังดิบและหนังฟอก ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 155.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 14.67 และ 12.73 ตามลำดับ ตามภาวะการผลิตที่ลดลงจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง โดยแหล่งนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และบราซิล มีสัดส่วน ร้อยละ 14.10 12.99 และ 11.82 ตามลำดับ

2. กระเป๋า ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 100.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.89 และ 1.82 ตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน อิตาลี และฝรั่งเศส มีสัดส่วน ร้อยละ 47.25 19.51 และ 13.37 ตามลำดับ

3. รองเท้า ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 82.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.51 แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 9.73 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลี มีสัดส่วน ร้อยละ 46.44 16.98 และ 9.77 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายการส่งเสริม SMEs ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลที่ออกมาช่วยสร้างความแข็งแกร่ง ให้กับ SMEs โดยมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เน้นปัจจัยการผลิตเดิม (Factor Driven Growth) ประเภทที่ดิน แรงงาน และทุน ไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่การสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มเป็นปัจจัยขับเคลื่อน หรือการพัฒนาทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยกระดับให้ SMEs ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และตั้งเป้าหมายในปี 2558 เพิ่มสัดส่วนรายได้ของ SMEs ทั้งระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 ในปี 2559 หรือคิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ส่วนใหญ่เป็น SMEs จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริม

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี สำหรับการฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตรองเท้า ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำไปยังตลาดอื่นชะลอตัวลงต่อเนื่อง อีกทั้งฐานการผลิตรองเท้าที่สูงเมื่อปีก่อนเพราะเร่งการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทรองเท้าให้ทันก่อนการถูกตัดสิทธิ์ GSP ในปี 2558 แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การผลิตสินค้าในกลุ่มสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ กระเป๋า และรองเท้า เพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี

การส่งออก ไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในตลาดอินโดนีเซีย และอินเดีย สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

การนำเข้า ไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หนังดิบและหนังฟอก มีมูลค่าการนำเข้าลดลงตามความต้องการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออกที่ปรับตัวลดลง ขณะที่กลุ่มสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ กระเป๋า และรองเท้า มีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรูที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้ม

คาดการณ์ปี 2559 การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่า จะขยายตัวได้ หากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) นอกจากนี้การขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐ และการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการบริโภคโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ยังเป็นระดับต่ำกว่าปกติตามการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจจีนอาจจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ