สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2016 16:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปริมาณการผลิต ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.69 เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่เมื่อเปรียบเทียบการผลิตกับช่วงไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นมากร้อยละ 22.08 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายดิบ และเพิ่มการผลิตเพื่อรองรับผลผลิตออกสู่ตลาดของสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง และข้าว สำหรับภาพรวมการผลิตและมูลค่าการส่งออกปี 2558 ปรับตัวลดลงจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.22 และ 5.54 ตามลำดับ จากหลายกลุ่มสินค้าปรับตัวลดลง เช่น ประมง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ธัญพืชและแป้ง ผักผลไม้ น้ำมันพืช และน้ำตาลทราย เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง การพิจารณาการประกาศปรับระดับการค้าจากปัญหาในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎ IUU ผนวกกับภาวะเศรษฐกิจและคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอตัว และด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน รวมถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคยังไม่ดีนัก ผนวกกับระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน จึงส่งผลให้ทั้งการผลิตและมูลค่าการส่งออกปี 2558 ปรับตัวลดลง

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่า จะปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.69 เนื่องจากการผลิตลดลงในหลายกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น น้ำตาลทราย ประมง รวมถึงธัญพืชและแป้ง (ตารางที่ 1) แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 22.08 เช่น น้ำตาลทราย ผักผลไม้ และธัญพืชและแป้ง สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 8.97 และ 4.60 ตามลำดับ รวมถึงภาพรวมการผลิตปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 6.01 เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับการเปิดตลาดเนื้อไก่ และระดับราคาที่เป็นผลสืบเนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนตัว

กลุ่มแปรรูปประมง ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.08 เป็นผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจาก การยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดทำประมง ประกอบกับการประกาศแจ้งเตือนการทำประมงของไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป และตลาดส่งออกชะลอตัว แต่เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.88 เนื่องจากการผลิตกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมากขึ้น เป็นผลจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลายลง สำหรับการผลิตภาพรวมปี 2558 ลดลงร้อยละ 7.83 เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบและประเทศผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อ

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 17.35 และ 56.97 ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตน้ำผลไม้และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (ลำไยสดและทุเรียนสด) เพิ่มขึ้นมาก และการเริ่มผลิตสับปะรดกระป๋องหลังจากปลายฤดูกาลผลิตในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา รวมถึงการเพิ่มคำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศอาเซียน และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงค์จากค่าเงินบาทอ่อนตัว แต่ภาพรวมการผลิตปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.59 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัว ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.44 ซึ่งผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ปริมาณ มันสำปะหลังเข้าสู่โรงงานแปรรูปลดลง การผลิตแป้งมันสำปะหลังและการผลิตมันเส้นลดลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.04 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว มันสำปะหลัง สำหรับภาพรวมการผลิตปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.94 เป็นผลจากภัยแล้ง และประเทศผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอดูแนวโน้มราคาที่คาดว่าจะลดต่ำลง

กลุ่มน้ำตาล ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.04 เนื่องจากภัยแล้งทำให้อ้อยที่เข้าหีบสะสมความหวาน ได้ไม่มาก ผลผลิตน้ำตาลทรายจึงลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 111.53 ซึ่งเป็นช่วงเปิดฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายดิบ สำหรับภาพรวมการผลิตปี 2558 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.26 โดยเป็นผลกระทบจากภัยแล้ง

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.52 ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตน้ำมันปาล์ม จากระดับราคาที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มตลาดล่วงหน้าของมาเลเซีย และน้ำมันถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและภาพรวมการผลิตน้ำมันพืชปี 2558 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.76 และ 2.37 ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มในตลาดมีมากทำให้การผลิตลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.19 จากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนการผลิตลดลงร้อยละ 6.32 สำหรับภาพรวมการผลิตผลิตภัณฑ์นมปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.72 นอกจากนี้ การผลิตอาหารสัตว์ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันร้อยละ 3.41 และทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ร้อยละ 0.82 สำหรับภาพรวมการผลิตอาหารสัตว์ปี 2558 ทรงตัวที่ระดับร้อยละ 0.19

หากพิจารณาข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร การประกอบกิจการในช่วง ไตรมาส 4 ปี 2558 พบว่ามีโรงงานปิดกิจการจำนวน 41 โรง แบ่งเป็นประเภท โรงสีข้าว กิจการผลิตมันเส้น กิจการผลิตลูกชิ้น กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีการประกอบกิจการใหม่ จำนวน 128 โรง แบ่งเป็นประเภท โรงสีข้าว กิจการอบผลิตผลทางการเกษตร กิจการผลิตมันเส้น กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการผลิตน้ำแข็ง กิจการผลิตเครื่องดื่มน้ำผลไม้ กิจการผลิตอาหารแปรรูป และกิจการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจำนวนทั้งสิ้น 8,601 โรง

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.24 แต่เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 13.08 (ตารางที่ 2) เป็นผลจากการจำหน่ายลดลงในหลายกลุ่มสินค้า เช่น น้ำตาลทราย ประมง ผลิตภัณฑ์นม น้ำมันพืช และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สำหรับการจำหน่ายปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.91 จากการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นในประเทศในหลายกลุ่มสินค้า เช่น ประมง น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์นม และปศุสัตว์

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 6,800.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.33 เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้าเพื่อรอดูแนวโน้มราคา รวมถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.82 จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าว และธัญพืช ประมง และปศุสัตว์ สำหรับภาพรวมมูลค่าการส่งออกปี 2558 มีมูลค่ารวม 26,505.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.54 จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง อาหารอื่นๆ ผลิตภัณฑ์กลุ่มข้าวและธัญพืช ปศุสัตว์ และน้ำตาล (ตารางที่ 3) โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,465.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.19 โดยเป็นการลดลงในเกือบทุกกลุ่มสินค้า คือ ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งแช่เย็น ปลาแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง และเนื้อปลาบด เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบ การยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดทำประมงประกอบกับการประกาศแจ้งเตือนการทำประมงของไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป และตลาดส่งออกชะลอตัว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.34 จากการส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกภาพรวมปี 2558 ลดลงร้อยละ 9.03

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม 761.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.29 จากคำสั่งซื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งปรับตัวลดลง เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าต่อรองราคา โดยใช้ราคาส่งออกไก่เนื้อของบราซิล ซึ่งบราซิลได้เปรียบเรื่องค่าเงินและต้นทุนการผลิต ทำให้จำหน่ายได้ในราคาถูกกว่าไทย แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.85 เป็นผลจากญี่ปุ่นเพิ่มคำสั่งซื้อไก่แปรรูปจากไทย โดยชะลอการนำเข้าจากจีนที่ประสบปัญหามาตรฐานสินค้า ส่งผลให้การส่งออกภาพรวมปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.05

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม 882.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.68 จากการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เช่น ลำไยสดและทุเรียนสด ซึ่งเวียดนาม จีน และฮ่องกงเพิ่มคำสั่งซื้อ รวมถึงกลุ่มผลไม้กระป๋องและแปรรูป เช่น สับปะรดกระป๋อง และน้ำผลไม้ จากสหรัฐฯเพิ่มคำสั่งซื้อ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 11.77 เนื่องจากการส่งออกลำไยสดและแห้ง ทุเรียนสดและแช่เย็นแช่แข็ง และมังคุดสด ลดลงกว่าไตรมาสก่อน สำหรับการส่งออกภาพรวมปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.43 เนื่องจากผลิตภัณฑ์กลุ่มผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลไม้กระป๋องและแปรรูป

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออก รวม 2,607.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.99 เนื่องจากราคาและคำสั่งซื้อข้าวและผลิตข้าวจากไนจีเรีย สหรัฐฯ และโกตดิวัวร์ชะลอตัวลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนมูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.99 จากข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลังอัดเม็ดและมันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง แต่ภาพรวมการส่งออกปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.75 จากความต้องการของประเทศผู้นำเข้าปรับชะลอตัวลง และระดับราคาสินค้าปรับชะลอตัวตามราคาน้ำมันที่ลดลง

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม 629.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 10.93 และ 20.18 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นตามแรงจูงใจด้านราคา ทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายล้นตลาด ระดับราคาจึงปรับชะลอตัวลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลง และส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.65

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ช่วงไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกรวม 453.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.37 เป็นผลจากการส่งออกในกลุ่มสินค้าไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นม และเนื้อสัตว์และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์ แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.65 เป็นผลจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าซุปและอาหารปรุงแต่ง โกโก้และของปรุงแต่ง และไอศกรีม สำหรับภาพรวมการส่งออกปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.03 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันปาล์ม ที่ราคาปรับชะลอตัวลง เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบโลกเพิ่มขึ้น

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 3,307.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 0.99 และ 0.07 ตามลำดับ (ตารางที่ 4) โดยการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น คือ เมล็ดพืชน้ำมัน เนื่องจากความต้องการสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4.70 เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17.57 โดยเป็นการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมัน ในขณะที่สินค้าวัตุดิบอื่นมีการนำเข้าลดลง เช่น กากพืชน้ำมันเปลี่ยนไปเป็นนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมันแทน และปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง จากต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อบริโภค เช่น นมและผลิตภัณฑ์ มีการนำเข้าลดลงมาก เป็นผลจากระดับราคา ที่ปรับเพิ่มขึ้น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 13.69 จากการลดลงของอุตสาหกรรมอาหารที่สำคัญ เช่น น้ำตาลทราย ประมง รวมถึงธัญพืชและแป้ง ได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า หากเทียบกับไตรมาสก่อนพบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 22.08 เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อรองรับผลผลิตออกฤดูตลาดของสินค้าเกษตร เช่น อ้อย สับปะรด มันสำปะหลัง และข้าว ส่วนมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.33 เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้าเพื่อรอดูแนวโน้มราคา รวมถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.82 เนื่องจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช ประมง และปศุสัตว์

ภาพรวมปี 2558 การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยร้อยละ 1.22 และ 5.54 ตามลำดับ ในหลายกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น สินค้าประมง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ธัญพืชและแป้ง ผักผลไม้ น้ำมันพืช และน้ำตาลทราย เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง การพิจารณาการประกาศปรับระดับการค้า จากปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎ IUU รวมถึงสหภาพยุโรปได้ประกาศตัดสิทธิ์ GSP จึงส่งผลต่อระดับราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจและคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าชะลอตัวลง ส่งผลให้การค้าการลงทุนซบเซาตามไปด้วย อีกทั้งเศรษฐกิจจีนที่เป็นประเทศคู่ค้าหลักมีการเติบโต ในอัตราที่ลดลง จากการปรับนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการพึ่งพาสินค้าในประเทศเพื่อลดการนำเข้า ประกอบกับระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน จึงส่งผลต่อภาพรวมการผลิต และมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงตามไปด้วย

คาดการณ์ปี 2559

คาดการณ์แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2559 คาดว่า การผลิตและการส่งออกในภาพรวมจะมีอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0-5 และ 0-3 ตามลำดับ จากปัจจัยลบในเรื่องการพิจารณาการประกาศปรับระดับการค้า สืบเนื่องจากปัญหาในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป การที่อุปสงค์จากจีนชะลอตัวลงต่อเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีน และราคาส่งออกปรับลดตามระดับราคาน้ำมัน รวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ก่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร มากขึ้น แต่ด้วยปัจจัยบวกสำหรับการผลิตและส่งออกในหลายกลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ (ไก่แปรรูป) ที่มีการเพิ่มคำสั่งซื้อจากต่างประเทศจากความเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตสินค้าของไทย สินค้ากลุ่มน้ำตาลทรายที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้นและระดับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น สินค้าประมง เช่น ทูน่ากระป๋อง ผู้ผลิตทูน่ากระป๋องไทยได้ซื้อกิจการอาหารทะเลสำเร็จรูปรายใหญ่ในอเมริกาเหนือ และยุโรป สินค้ากุ้ง จากการคาดการณ์ผลผลิตกุ้งทั่วโลกจะมีปริมาณลดลง โดยเฉพาะคู่แข่งหลัก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย จึงเป็นโอกาสดีของไทย เนื่องจากสถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากการปัญหาโรคกุ้งตายด่วน ประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน SMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารในประเทศ จะส่งผลให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวได้เล็กน้อย

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ