สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559)(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 23, 2016 13:55 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากภาคก่อสร้างในประเทศเริ่มขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากบังคลาเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของเมียนมาร์ยังทรงตัวอยู่ในแดนลบ อย่างไรก็ตามคาดว่าในไตรมาสถัดไปอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะยังขยายตัวได้ถึงแม้จะเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ภาคก่อสร้างขยายตัวตาม

การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 11.88 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 11.79 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.81 และร้อยละ17.50 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ31.14 และร้อยละ15.70ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ปรับตัวดีขึ้นจากแนวโน้มที่ดีของการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการของกระทรวงคมนาคม ซึ่งบางโครงการได้มีการเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้วในไตรมาสนี้

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 10.12 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.16 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.96 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ29.91และร้อยละ 12.82 ตามลำดับ เนื่องจากภาคก่อสร้างของไทยเริ่มขยายตัว ทั้งจากการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐเอง รวมถึงการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและคอนโดมิเนียม ของภาคเอกชนด้วย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีปริมาณการส่งออกรวม 3.79 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 180.25ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.47 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า46.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00ในขณะที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ5.22และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.16 และร้อยละ24.02 ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณ 2.32 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 133.79ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.40และร้อยละ21.40ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 6.45และร้อยละ10.68ตามลำดับ ในภาพรวมการส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ยังขยายตัวได้ เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชารวมถึงบังคลาเทศซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยอย่างต่อเนื่องโดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในไตรมาสนี้ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศ ลาวและอินโดนีเซีย ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีปริมาณรวม 5,293.84 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.58 และ 6.39 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.32และ 28.87ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 20.73 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 5,273.11 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.82ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนมากเป็นการนำเข้าเพื่อทดสอบคุณสมบัติเปรียบเทียบกับปูนซีเมนต์ที่ผลิตได้ในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษและอะลูมินัสซีเมนต์ที่ไม่มีการผลิตในประเทศซึ่งแหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทยในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน เนเธอร์แลนด์อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโครเอเชียตามลำดับ

ราคาสินค้า

กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ปรับลดราคาขายหน้าโรงงานลง เนื่องจากราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนด้านการขนส่งลดลง ซึ่งทุกบริษัทให้ความร่วมมือกับภาครัฐเป็นอย่างดี ราคาขายปลีกของปูนซีเมนต์เกือบทุกตราสินค้าจึงลดลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม2558ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับกิจกรรมส่งเสริมการขายอื่นๆ ของแต่ละบริษัทแล้ว ทำให้ราคาจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศโดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 10-20 ของราคาขายเดิม

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีโดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการและประกวดราคาแล้วเสร็จ รวมถึงเริ่มก่อสร้างแล้วเป็นบางส่วนในไตรมาสนี้จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา-มาบตาพุด และโครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบังสำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรีนครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี อยู่ระหว่างทบทวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและพิจารณาแนวทางในการเยียวยาผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเส้นทางอีกครั้ง เนื่องจากยังมีเสียงคัดค้านจากประชาชนในท้องที่ซึ่งจะถูกเวนคืนที่ดินเป็นจำนวนมากในส่วนของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมประกาศผลได้ภายในเดือนสิงหาคม 2559 นี้

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1ปี 2559ขยายตัวจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ของทุกปีเป็นฤดูกาลก่อสร้างของไทย ประกอบกับภาคก่อสร้างในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยสังเกตได้จากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาสต่อไป

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1ปี 2559เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นในส่วนของปูนเม็ดซึ่งมีราคาจำหน่ายไม่สูงนัก ทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของไตรมาสนี้ปรับตัวลดลง โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวในไตรมาสนี้คือลาวและบังคลาเทศ ในขณะที่ตลาดหลักของไทยอย่างเมียนมาร์และกัมพูชายังคงอยู่ในภาวะหดตัว

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2559มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและภาคก่อสร้าง ในส่วนของ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ