สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2560 (มกราคม - มีนาคม) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 2, 2017 15:07 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2

0 2202 4383

อุตสาหกรรมการผลิตยาในภาพรวมมีการขยายตัวที่ดีโดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาทุกชนิดในประเทศเพิ่มขึ้น ยกเว้นในส่วนของยาผงที่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่บางรายยังอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการผลิตในโรงงานต่อเนื่องจากปีก่อน ทำให้มียอดจำหน่ายในประเทศลดลง สำหรับการส่งออกยังขยายตัวได้ โดยเป็นการขยายตัวของตลาดเมียนมาเป็นหลัก

การผลิต

การผลิตยา ในไตรมาสที่ 1ปี 2560 มีปริมาณรวม 11,247.23 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ8.45และร้อยละ 21.50ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตยาของไทยขยายตัวได้ดีโดยมีปริมาณการผลิตยาทุกชนิดเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายสามารถกลับมาผลิตยาได้ดังเดิมหลังจากที่มีการย้ายสถานที่ตั้งโรงงานในช่วงปีที่ผ่านมาจึงมีการเร่งผลิตทั้งเพื่อจำหน่ายและเก็บสต็อก ประกอบกับผู้ผลิตรายใหญ่บางรายมีคำสั่งซื้อยาจากโรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 1ปี 2560 มีปริมาณ 10,810.94 ตัน ขยายตัวจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.66และร้อยละ 3.61 ตามลำดับ โดยมีปริมาณการจำหน่ายยาทุกชนิดเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดยาในประเทศ ยกเว้นในส่วนของยาผงซึ่งยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการผลิตในโรงงาน ทำให้มียาสำหรับจำหน่ายลดลง ถึงแม้ว่ายังมีการสั่งซื้อเข้ามาตามปกติ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 1ปี 2560มีมูลค่า84.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.02และร้อยละ 1.98ตามลำดับ ในภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาขยายตัวจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของเมียนมาโดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาส ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ตามลำดับ มีมูลค่าการส่งออกรวม57.18ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ67.39ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมดของไทย

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 1ปี 2560 มีมูลค่า 406.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.23 และร้อยละ 8.65 ตามลำดับโดยมีสัดส่วนการนำเข้ายาราคาถูกจากอินเดียและจีนลดลง หรือคิดเป็นร้อยละ 8.49 ของมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศทั้งหมดของไทยในขณะที่มีมูลค่าการนำเข้ายาต้นแบบจากเยอรมนีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.61ทำให้ตลาดนำเข้าที่สำคัญอันดับแรกในไตรมาสนี้คือเยอรมนี ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เปอร์โตริโก และฝรั่งเศส ตามลำดับ รวมมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น189.81ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 46.71 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตยารักษาและป้องกันโรคในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวจากปริมาณการผลิตยาทุกชนิดที่เพิ่มขึ้น สำหรับปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการขยายตัวที่ดีเช่นกัน ยกเว้นในส่วนของยาผงที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปี 2559 ที่ผ่านมา

ในส่วนของการส่งออกยาในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมียนมาซึ่งเป็นตลาดส่งออกยาที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทยสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยาจากไทยเพิ่มขึ้นในขณะที่เวียดนามปรับลดการสั่งซื้อยาจากไทยลงเล็กน้อย โดยตลาดส่งออกหลักของไทยยังคงเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 65.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 76.88 ของมูลค่าการส่งออกยาทั้งหมดของไทย สำหรับมูลค่าการนำเข้ายาในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการขยายตัวที่ดีตามตลาดยาในประเทศ

แนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยารักษาและป้องกันโรคในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 เนื่องจากตลาดยาทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเมียนมา กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เนื่องจากสินค้ายาของไทยเป็นที่ยอมรับในคุณภาพและมาตรฐาน ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากจากประเทศในเขตภูมิภาคอาเซียน ถึงแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ยาที่นำเข้าจากอินเดียและจีนก็ตาม

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ