สศอ. เผยผลสรุปประชุมไทย-เยอรมนี ชี้ต้องสร้างแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 เร่งบูรณาการนโยบายร่วมกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 13, 2017 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยผลสรุปประชุม Industry 4.0 ระหว่างไทยเยอรมนี ชี้จำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นกลไกกลางในการบูรณาการนโยบายด้านต่าง ๆ ใหม่ เตรียมจัดตั้งคณะทำงานหุ้นส่วนความร่วมมือไทย-เยอรมนี ตามแนวประชารัฐ

ภายหลังการประชุม "Industrie 4.0 in Thailand 4.0 : German-Thai Partnership for the Industry of Tomorrow" เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ได้กระตุ้นให้เกิดการหารืออย่างบูรณาการในหลายภาคส่วน และได้เสนอให้มีการจัดตั้งหุ้นส่วนความร่วมมือไทย-เยอรมนี ผ่านกลไกประชารัฐ (Public-Private Partnership : PPP) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ไปสู่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 โดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมของเยอรมนีในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 มีความจำเป็นที่จะต้องบูรณาการนโยบายด้านต่าง ๆ ใหม่ อาทิ นโยบายอุตสาหกรรม นโยบายการพัฒนา SMEs นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และนโยบายการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาและปรับเปลี่ยนทักษะของแรงงาน ให้สอดคล้องและส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ จำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นกลไกกลางในการบูรณาการนโยบายต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐและเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการดำเนินงานกับภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศ นอกจากนี้ ผลสรุปจากการหารือโต๊ะกลม ซึ่งเป็นการหารือในประเด็นเฉพาะทางที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1. นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ "อุตสาหกรรม 4.0" 2. การผลิตอัจฉริยะ/การผลิตยุคใหม่ 3. การก้าวสู่ยุคดิจิทัลของอุตสาหกรรมบริการและสังคม (กรณีสาขาบริการทางการแพทย์) 4. อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารแปรรูป และ 5. แรงงาน 4.0 ได้รับข้อเสนอแนะที่น่าสนใจหลายประการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • การปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องมีแพลตฟอร์ม (Platform) ที่ภาครัฐต้องอำนวยการจัดตั้งเพื่อเป็นกลไกผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ตามบริบทของประเทศไทย ให้ไปสู่ทิศทางเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ กรอบนโยบายด้านเทคโนโลยี การศึกษา และแรงงาน โดยคำนึงถึงความต้องการที่มาจากภาคเอกชน
  • การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ควรเริ่มต้นด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศที่มีศักยภาพก่อน เพื่อเป็นการนำร่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมระยะยาว
  • การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย และจำเป็นต้องส่งเสริมภาคอาชีวศึกษาและพัฒนาทักษะที่ตรงกับลักษณะงานในอนาคต
  • ประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นในสาขาการแพทย์ โดยควรมีมาตรฐานสำหรับเครื่องมือแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้านการแพทย์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์ รวมทั้งการยกระดับความสามารถบุคลากรทางการแพทย์และเภสัช
  • ประเทศไทยควรคำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบมาตรฐานทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ อาทิ EU Regulation เพื่อให้อาหารมีความปลอดภัย
  • การสร้างความเชื่อมโยงและมูลค่าเพิ่ม ควรสร้างความเชื่อมโยงในแต่ละห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารบริโภคและ Non food จากผู้ผลิตถึงภาคธุรกิจ ระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิตอาหารแปรรูป และผู้ค้าปลีก

นายศิริรุจ กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานหุ้นส่วนความร่วมมือไทย-เยอรมัน ตามแนวคิดประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีหน่วยงาน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งบริษัทชั้นนำจากประเทศเยอรมนีซึ่งมีบทบาทในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย รวมทั้งขยายการเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งอาเซียนเพื่อส่งเสริมบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทั้งในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ