สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2560 (เมษายน - มิถุนายน) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 5, 2017 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ส่วนอุตสาหกรรม3 สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา2

0 2202 4383

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมชะลอตัวลงเล็กน้อยแต่การผลิตในบางผลิตภัณฑ์ได้แก่ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานและยางหล่อดอกยังขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวตามการขยายตัวของตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกาจีน และมาเลเซีย ตามลำดับ

การผลิต

ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 1.87 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หดตัวลงร้อยละ 17.09 ตามการชะลอตัวลงของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางล้อ (ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน รวมถึงยางหล่อดอก) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีปริมาณการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ลดลงร้อยละ 4.70 ร้อยละ 12.04 และร้อยละ 14.28ตามลำดับ ในขณะที่มีปริมาณการผลิตยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.95ร้อยละ 3.11 และร้อยละ 14.43 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะและยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ลดลงร้อยละ 0.26และ 4.89ตามลำดับ ในขณะที่มีปริมาณการผลิตยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ยางในรถบรรทุก/รถโดยสารยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานและยางหล่อดอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.19 ร้อยละ 2.43 ร้อยละ 3.60 และร้อยละ13.44ตามลำดับ ในภาพรวมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อของไทยในไตรมาสนี้ชะลอตัวลงตามการหดตัวของตลาดในประเทศ

สำหรับปริมาณการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 12.11และร้อยละ 10.74 ตามลำดับในภาพรวมการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในไตรมาสนี้ชะลอตัวลงเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่บางรายมีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดทำให้มีการปรับลดปริมาณการผลิตลง

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศลดลงร้อยละ 19.06 และร้อยละ 22.10ตามลำดับเนื่องจากมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับตลาดในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว

สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางล้อในประเทศ(ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน รวมถึงยางหล่อดอก) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีปริมาณการจำหน่ายยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ลดลงร้อยละ 3.75 ร้อยละ 4.10 ร้อยละ 16.20 และร้อยละ 19.04 ตามลำดับ ในขณะที่มีปริมาณการจำหน่ายยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานและยางหล่อดอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.98 และร้อยละ 13.92 ตามลำดับและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการจำหน่ายยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ลดลงร้อยละ 3.38ร้อยละ 2.77ร้อยละ 2.26และร้อยละ 5.55ตามลำดับ ในขณะที่มีปริมาณการจำหน่ายยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานและยางหล่อดอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.64และร้อยละ 16.46ตามลำดับ

สำหรับการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 14.90และร้อยละ 23.41 ตามลำดับ ในภาพรวมการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศมีการขยายตัวที่ดีเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทั้งต่อภาคการผลิตการใช้งานทั่วไปในครัวเรือน และการบริการทางการแพทย์

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย (ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ)ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีมูลค่ารวม 1,448.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 19.77 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.92 โดยตลาดส่งออกหลักในสินค้ายางแผ่นและยางแท่งของไทยในไตรมาสนี้ คือ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดส่งออกน้ำยางข้นที่สำคัญของไทยในไตรมาสนี้ยังคงเป็นมาเลเซียตามด้วยจีน และเกาหลีใต้ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง(ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ ยางคอมพาวด์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ) ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีมูลค่ารวม 2,448.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลงร้อยละ 0.40ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 50.35โดยเป็นการขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเกือบทุกชนิดยกเว้นยางคอมพาวด์โดยเฉพาะในส่วนของยางล้อหลอดและท่อ และยางวัลแคไนซ์ ที่ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 20.75ร้อยละ 15.66และร้อยละ14.81ตามลำดับ เนื่องจากตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกาจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม มีการขยายตัวที่ดี

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้ายางและเศษยางรวม 333.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 12.66และ 50.72ตามลำดับโดยการนำเข้ายางในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมด (ร้อยละ 98.68)เป็นการนำเข้ายางสังเคราะห์ซึ่งมีตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ยังคงเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาไต้หวัน และสิงคโปร์ ตามลำดับ

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง (ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ) มีมูลค่ารวม 318.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิดยกเว้นในส่วนของกระเบื้องปูพื้น/ปิดผนังขยายตัวร้อยละ 7.96และร้อยละ 14.92 ตามลำดับโดยส่วนมากเป็นการขยายตัวของการนำเข้ายางรถยนต์และท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียงจากจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี

ราคาสินค้า

ราคาเฉลี่ยของยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันไตรมาสที่ 2 ปี 2560 อยู่ที่ 64.83 บาท/กิโลกรัมและ 67.49 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ 55.55 บาท/กิโลกรัม และ 58.20 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 16.70 และร้อยละ15.96 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐอยู่ระหว่างดำเนินโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ รวม6 โครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยางโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา โครงการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนยาง และโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐรวมวงเงินงบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ยางในรถบรรทุก/รถโดยสารยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอกเพิ่มขึ้นในขณะที่มีปริมาณการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะและยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยานลดลง สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการผลิตลดลง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่บางรายมีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดทำให้มีการปรับลดปริมาณการผลิตลง ในส่วนของการจำหน่ายในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ลดลง ในขณะที่มีปริมาณการจำหน่ายยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานและยางหล่อดอกเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ตลาดผลิตภัณฑ์ยางภาพรวมในประเทศที่ชะลอตัว

มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวตามความต้องการใช้ยางจากไทยของนานาประเทศโดยเฉพาะจีนในส่วนของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมีการขยายตัวที่ดีเช่นกันโดยเฉพาะในส่วนของยางล้อและถุงมือยางซึ่งมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกามาเลเซีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ

แนวโน้ม

การผลิตยางรถยนต์และยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะยังขยายตัวได้ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และเวียดนามในส่วนของการผลิตและจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ตามความจำเป็นของภาคอุตสาหกรรมและการใช้ในทางการแพทย์

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกามาเลเซียและออสเตรเลียในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในผลิตภัณฑ์ถุงมือยางและถุงมือตรวจของไทย

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ