ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 18, 2018 14:22 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2561 ยังคงขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 นับจากเดือนพฤษภาคม 2560 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตได้ดี โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.8

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด กล่าวคือ ในเดือนพฤษภาคมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 2.9 เดือนมิถุนายนร้อยละ 5.0 และเดือนกรกฎาคมร้อยละ 4.9 ส่งผลให้ MPI ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 ที่ MPI ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.5 สะท้อนทิศทางการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตามปกติ กล่าวคือ ในเดือนพฤษภาคมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 14.7 เดือนมิถุนายนร้อยละ -1.1 และเดือนกรกฎาคมร้อยละ -2.8 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลในรอบปี ที่ MPI จะชะลอตัวลงในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคมหลังจากการที่โรงงานส่วนใหญ่เร่งผลิตในเดือนพฤษภาคมเพื่อชดเชยการปิดทำการช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัว คือ

น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.1 จากผลผลิตอ้อยที่มีปริมาณมากในปีนี้ทำให้มีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ได้มากกว่าปีก่อน

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มสินค้าโดยเฉพาะจากกลุ่มสินค้าหลักได้แก่ PCBA (แผ่นวงจรพิมพ์) และ integrated circuits (แผงวงจรรวม)

เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสูงเพื่อขยายฐานลูกค้าในประเทศ และการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปติดตั้งตามอาคารต่าง ๆ รองรับกีฬาโอลิมปิกในประเทศญี่ปุ่น

การกลั่นปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ตามทิศทางเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันดีเซล รวมถึงน้ำมันเครื่องบิน

เภสัชภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 ซึ่งมาจากฐานต่ำกว่าปกติจากการปิดปรับปรุงระบบการผลิตของผู้ผลิตบางรายในเดือนสิงหาคมของปีก่อน ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มเครื่องจักรใหม่ของผู้ผลิตบางรายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2561 จะขยายตัวเป็นบวกเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.0 (ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้การส่งออกและภาคการผลิตขยายตัวในเกณฑ์ดี นอกจากนี้แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งขึ้นตามการเบิกจ่ายและความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนตามการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และการปรับตัวดีขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.74 ปรับตัวดีขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.88

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนสิงหาคม 2561

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย
  • การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่า 1,548.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว เครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ และเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่หดตัว

+ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่า 8,247.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนสิงหาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 377 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2561 ร้อยละ 22.0 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.3 (%YoY)

+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่ารวม 16,373.9 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2561 ร้อยละ 28.6 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 28.0 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนสิงหาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (26 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (24 โรงงาน)"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการทำแป้ง จำนวนเงินทุน 2,632.8 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน จำนวนเงินทุน 1,156 ล้านบาท"
  • จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนสิงหาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 118 ราย ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2561 ร้อยละ 8.5 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.3 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่ารวม 2,059.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2561 ร้อยละ 17.0 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.5 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนสิงหาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งในอาคารจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ (9 โรงงาน) และอุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (8 โรงงาน)

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนสิงหาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการทำน้ำดื่ม มูลค่าเงินลงทุน 560 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิบซัม มูลค่าเงินลงทุน 272 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนสิงหาคม 2561

1.อุตสาหกรรมอาหาร

+ การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนสิงหาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ น้ำตาลทราย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 90.8 (ตัน-%YoY) เพื่อรองรับการละลายน้ำตาลทรายดิบ เพื่อแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40-45 จากปีก่อน ประกอบกับการผลิตทูน่ากระป๋องปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 (%YoY) จากความกดดันด้านราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าคลายตัว ทำให้ประเทศคู่ค้าเพิ่มคำสั่งซื้อมากขึ้น

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ นมพร้อมดื่ม และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.4 และ 0.6 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนสิงหาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 (%YoY) เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น

+ ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนสิงหาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสินค้า เช่น ข้าวขาว แป้งมันสำปะหลัง ซาร์ดีนกระป๋อง ข้าวหอมมะลิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง ไก่แปรรูป และสับปะรดกระป๋อง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 125.9 61.2 37.3 21.4 19.5 13.4 9.0 และ 5.6 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

+ คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าการผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนกันยายน 2561 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากโอกาสขยายการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ กุ้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สุกรแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งคาดว่าจีนจะนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากสหรัฐน้อยลงจากการขึ้นภาษี เพื่อตอบโต้มาตรการทางการค้าของสหรัฐ รวมทั้งสินค้าข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยบวกจากนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล ยิ่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต
  • ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ และ ผ้าผืน ลดลงร้อยละ 15.89 และ 9.08 (%YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโรงงานผลิตเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืนรายใหญ่ หยุดสายการผลิตบางส่วนเพื่อซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้มีการวางแผนการผลิตสินค้าคงคลังให้สามารถรองรับการส่งออกได้อย่างเพียงพอ

+ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 4.26 (%YoY) โดยเป็นการขยายตัวในกลุ่มเสื้อผ้าสุภาพบุรุษที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ตามการสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

การจำหน่ายในประเทศ

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ขยายตัว ร้อยละ1.18 (%YoY) โดยเป็นกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก

+ ผ้าผืน และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 3.37 และ 5.70 (%YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคสนใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นจากต่างประเทศทั้งในกลุ่มเสื้อผ้าราคาถูกที่นำเข้าจากจีนและเวียดนาม รวมถึงกลุ่มเสื้อผ้าแบรนด์ที่เป็นสินค้าหรู

การส่งออก

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.62 4.38 และ 13.92 ตามลำดับ โดยเส้นใยสิ่งทอขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ คือ เส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเส้นใยและผ้าผืนที่มีสมบัติพิเศษที่ไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตและการส่งออก โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา บังคลาเทศ และกัมพูชา

คาดการณ์แนวโน้มเดือนกันยายน 2561

+ แนวโน้มการผลิต เส้นใยสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออก โดยเป็นกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ที่เป็นเส้นใยคุณสมบัติพิเศษ และเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยคุณสมบัติพิเศษ เช่น เสื้อผ้ากีฬา อย่างไรก็ตาม กลุ่มผ้าผืน อาจมีการผลิตและส่งออกชะลอตัวในกลุ่มผ้าฝ้าย ซึ่งไทยไม่มีวัตถุดิบในประเทศ และความต้องการผ้าฝ้ายของตลาดในประเทศลดลง

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีจำนวน 181,237 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 1.03 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.15 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ ทั้งนี้ การผลิตรถยนต์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีจำนวน 86,814 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 5.94 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 27.73 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เนื่องจากการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนมีการขยายตัว ผลผลิตสินค้าทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจและเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีจำนวน 102,513 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 13.71 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.38 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ชะลอตัวในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนกันยายน ปี 2561 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ปี 2560 เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ"

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีจำนวน 172,576 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 0.24 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.79 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบเอนกประสงค์

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 156,866 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 17.03 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.05 (%YoY)จากการปรับเพิ่มขึ้นของการยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี., 126-250 ซีซี. และ 251-399 ซีซี.

  • การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีจำนวน 28,940 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 9.40 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.59 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน ปี 2561 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ปี 2560"

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีจำนวน 7.18 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 0.99 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.82 (%YoY) เพื่อรองรับการขยายตัวตามการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคภาครัฐ

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีปริมาณการจำหน่าย 3.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 6.35 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.68 (%YoY) เนื่องจากขยายตัวตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐ และการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีจำนวน 1.26 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 18.64 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.77 (%YoY) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากจากตลาดส่งออกหลักอย่างฟิลิปปินส์และจีน

  • คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์รวมในเดือนกันยายน ปี 2561 คาดว่าจะหดตัวลงเนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝนและมีฝนตกชุก
อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)
  • การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีจำนวน 3.33 ล้านตัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 2.44 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.70 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ภายในประเทศ ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 3.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 6.35 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.95 (%YoY) โดยขยายตัวตามความคืบหน้าของการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐและการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน

  • การส่งออกซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีจำนวน 0.35 ล้านตัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ร้อยละ 13.88 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 39.79 (%YoY) เป็นผลจากตลาดส่งออกหลักปรับลดคำสั่งซื้อลงมาก โดยเฉพาะศรีลังกาไม่มีคำสั่งซื้อในเดือนนี้ รองลงมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์และกัมพูชา ปรับลดคำสั่งซื้อลง ร้อยละ 93.50 และ 33.99 ตามลำดับ

+ คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกันยายน ปี 2561 คาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้เล็กน้อยเนื่องจากยังอยู่ในภาวะฤดูฝน

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

+ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 104.1 สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ และมอเตอร์ไฟฟ้า โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9 , 9.9 และ 5.1 ตามลำดับ โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.6 , 45.6 และ 24.1 เนื่องจากผู้ประกอบการหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดตุรกีที่ถูกมาตรการตอบโต้ทางภาษีเครื่องปรับอากาศ ส่วนคอมเพรสเซอร์และมอเตอร์ไฟฟ้ามีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กระติกน้ำร้อน สายไฟฟ้า หม้อหุงข้าว เตาไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น และพัดลมตามบ้าน โดยลดลงร้อยละ 29.2 , 17.7 , 15.2 , 14.7 , 12.0 , 11.9 และ 2.8 ตามลำดับ โดยหม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน พัดลมและสายไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากความต้องการในประเทศลดลง จึงมีการนำสินค้าคงคลังออกมาจำหน่าย ส่วนตู้เย็น เตาไมโครเวฟ และเครื่องซักผ้ามีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง

+ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 2,099.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าหลัก เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 407.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.3 แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 178.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 161.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ในขณะที่ตู้เย็นมีมูลค่าส่งออก 123.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 21.9 เครื่องซักผ้ามีมูลค่า122.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.3 โดย "ลดลงในตลาดสหรัฐอเมริการ้อยละ 13.6

"คาดการณ์การผลิตเดือนกันยายน 2561 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มเล็กน้อยร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น อาเซียน สหภาพยุโรป"

+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 114.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ Monolithic IC, PCBA, Printer, Other IC, HDD, และ Semiconductor devices transistor (อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2, 15.7, 14.3, 10.5, 6.2 และ 2.6 ตามลำดับ ซึ่งเติบโตตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก และใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะ IC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage และในตลาดมีการพัฒนา Semiconductor มากขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สมาร์ทต่าง ๆ เช่น นาฬิกา จอ LED และโฟโต้เซนเซอร์ที่ใช้ในกล้องถ่ายรูป

+ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,386.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,350.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 วงจรพิมพ์มีมูลค่าส่งออก 137.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์มีมูลค่าส่งออก 120.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 ในขณะที่วงจรรวม (IC) มีมูลค่าส่งออก 750.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.5 โดยลดลงในตลาดจีนร้อยละ 49.5

"คาดการณ์การผลิตเดือนกันยายน 2561 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวม เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"
6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

+ ดัชนีการผลิต ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีค่า 128.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ เหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.5 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง โดยเฉพาะสับปะรดกระป๋องและซาร์ดีนกระป๋อง รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่น รีดเย็น และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 13.1 และ 7.9 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 0.8 โดยเหล็กเส้นกลมลดลงร้อยละ 16.2 รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดเย็น เหล็กเส้นข้ออ้อย และลวดเหล็ก ลดลงร้อยละ 7.6 3.9 และ 1.4 ตามลำดับ ซึ่งเหล็กเส้นข้ออ้อย มีดัชนีผลผลิตลดลงติดต่อกันหลายเดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 - สิงหาคม 2561 ยกเว้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2

+ การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 มีปริมาณ 1.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเหล็กทรงแบนมีการบริโภค 1.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 ซึ่งปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดหนา เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.5 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม และเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดบาง ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.1 39.2 และ 33.5 ตามลำดับ ส่วนเหล็กทรงยาว มีการบริโภค 0.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ทั้งนี้เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 หลังจากลดลงติดต่อกันมา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม - มิถุนายน 2561

+ การนำเข้า ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 การนำเข้า มีปริมาณ 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณ 0.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 เนื่องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดหนา ประเภท Alloy Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.8 51.2 และ 50.3 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณ 0.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 เนื่องจากการนำเข้าเหล็กลวด ประเภท Carbon Steel เหล็กเส้นประเภท Alloy Steel และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนประเภท Carbon ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 112.4 103.7 และ 89.0 ตามลำดับ

"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกันยายน 2561 คาดการณ์ว่า การผลิตขยายตัว โดยดัชนีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนและกลุ่มเหล็กทรงยาว โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อที่มากขึ้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนเหล็กทรงยาวการผลิต ทรงตัว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการ Safeguard ชั่วคราว เป็นระยะเวลา 200 วัน สำหรับสินค้าเหล็กที่นำเข้ามาในตุรกี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และแนวโน้มการนำเข้าเหล็กของไทยจากจีนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ซึ่งควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป"

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ